วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สิบปีที่รอคอย..ประสบการณ์ที่ผันผ่าน กับกาลเวลาที่แสนเศร้า

สิบปีที่รอคอย..ประสบการณ์ที่ผันผ่าน กับกาลเวลาที่แสนเศร้า
หนูมีหลายกล่องเลยค่ะ..บนโต๊ะทำงาน ข้างโต๊ะทำงาน ใต้โต๊ะทำงาน บนหลังตู้เก็บของ มี "กล่อง" กระดาษทั้งกล่องของขวัญ ลังแม่โขง ลังหงส์ทอง ลังเบียร์ กล่องกระดาษเอสี่..ทุกลังทุกกล่องผูกรัดด้วยเชือกฟางอย่างแน่นหนา..ด้วยความสงสัยจึงถามเธอว่า..# เก็บสะสมอะไรไว้นักหนาเต็มห้องไปหมด ทำไม่ไม่คัดไปทิ้งเสียบ้างล่ะภา ? # ของมีค่าทั้งนั้น หนูทิ้งไม่ลงหรอกค่ะ เคยเปิดมาดูพอจะทิ้วก็ทำใจไม่ได้ ทิ้งไม่ลงจริงๆค่ะ อาจารย์ณัฐฐ์..#แต่มันผิดหลัก 5ส ที่เราไปอบรมมานะ..ผมแย้ง # หนูขอละอาจารย์ ขอเพิ่มอีก ส. นึงละกัน # ส.อะไร ?# ส.สะสม สะสมของมีคุณค่าค่ะอาจารย์ # ตามใจ แต่ผมสงสัยจริงๆว่าภาใส่อะไรทึ่ว่ามีคุณค่าไว้ในนั้นตั้งหลายกล่อง?#

ทุกกล่องมีของเหมือนๆ กันอยู่ 3 อย่างค่ะอาจารย์#อ้าวถ้างั้นทำไม่ไม่คัดเลือกที่มันเหมือนๆ กันไว้เป็นตัวแทนอย่างละชิ้นล่ะ?# มันเหมือนกันก็จริง แต่ทุกชิ้นมีค่ามากสำหรับหนู หนูไม่ทิ้งมันหรอกค่ะ..!!#ทิ้งมั่งเหอะภา ตัดใจบ้าง มันรกห้อง..ผมหยิบมากล่องนึง ทำท่าจะโยนออกไปนอกห้อง..#

ภาวิ่งเข้ามาคว้าลังแม่โขงในมือผม แล้วกอดไว้แน่น พร้อมกับคร่ำครวญ..อาจารย์อย่าทิ้ง หนูขอร้องค่ะ..พลางน้ำตาไหลอาบแก้ม สะอึกสะอื้น # ผมใจอ่อนลงทันที..เอาละๆๆ ไม่ทิ้งก็ได้ แต่ขอเปิดดูหน่อยว่ามันมีอะไรอยู่ในกล่องพวกนี้ ถึงได้หวงนักหวงหนา..แกะให้ดูหน่อยภา#

ภาค่อยๆ แกะเชือกฟางสีแดงออก ฝาลังแม่โขงคร่ำคร่าเกือบขาดวิ่น ข้างกล่องเขียนด้วยปากกาเคมีสีน้ำเงินว่า..15 ธันวาคม 2547..ภาเล่าไปพลาง..อาจารย์ณัฐฐ์รู้มั๊ย เวลาหนูเหนื่อยมากๆ ท้อใจมากๆ หนูจะล็อกประตู เปิดดูของในกล่องนี้ ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า แล้วหนูจะมีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาทุกครั้งเลย..# ฝากล่องเปิดออก ในนั้นมีแต่กระดาษโน้ต การ์ดอวยพร ซองจดหมาย ทุกอย่างซีดจางเพราะเก่าเก็บ..ภาหวงมั๊ยผมขออ่านดูสักแผ่นนึง?# อ่านเถอะค่ะอาจารย์#
ผมสุ่มหยิบกระดาษจดหมายน้อย ขึ้นมาแผ่นนึงอ่านข้อความ.."ขอบคุณมากนะภา..พี่ไม่รู้จะตอบแทนภาอย่างไรดีถึงจะสมกับความดี ความมีน้ำใจของภา..ที่พี่จบปริญญาโทนิเทศศาสตร์ มสธ. มาได้ ก็เพราะความช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานของภาทุกอย่าง ทั้งเตือนให้แต่ลงทะเบียน ตามมาเข้าสัมมนา ตรวจเล่มจัดหน้าจัดรูปแบบวิทยานิพนธ์ นัดสอบปกป้อง แก้ไข จนเสร็จ แม้กระทั่งโทร.ตามให้พี่มาซ้อมรับปริญญา พี่ทำงานชายแดนใต้ ไม่มีเวลาว่างตรงกับเพื่อน หากไม่ได้ภาพี่คงไม่จบโท..ขอบคุณเป็นที่สุดนะภา คนดีของทุกคน..ลงชื่อ พี่เอก" ..ผมอ่านด้วยความประทับใจทั้งต่อนักศึกษาและต่อภา..#

ผมลองสุ่มหยิบกระดาษโน้ตเล็กๆสีเหลืองขึ้นมาอีกแผ่นนึง..ภา นี่มันลายมือภาเองนี่..ผมท้วง# ใช่ค่ะลายมือหนูเอง พี่เค้าโทรศัพท์มา หนูจดไว้ค่ะ# ผมเริ่มอ่าน..ภาคะ พี่คิดถึงภาค่ะ พี่ขอบคุณภามากนะคะ ที่เป็นธุระทุกอย่างให้พี่ พี่มีวันนี้ได้เพราะภาช่วยประสานงานให้ทุกอย่าง พี่ไม่รู้จะตอบแทนภาอย่างไรดี ขอให้พระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองป้องกันภา ขอให้ภามีความเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จในชีวิตตลอดไปนะคะ..พี่อ้อ #

ผมอ่านถึงตอนนี้ ภานั่งร่ำไห้สะอึกสะอื้น น้ำตานองหน้า..ร้องไห้ทำไมภา? ..หนูซาบซึ้งใจใจค่ะอาจารย์ณัฐฐ์..สิบปีแล้วค่ะที่หนูสะสม..คำขอบคุณ..คำยกย่องชื่นชม..คำอวยพร..เหล่านี้ไว้มากมายอย่างที่อาจารย์เห็นนี่แหละค่ะ..# ป่านนี้พี่ๆเค้าคงสุขสบายกันไปหมดแล้วละ พี่บางคนได้เลื่อนเป็นผู้จัดการฝ่าย บางคนได้เงินเดือนเพิ่มเป็น 8 หมื่น พี่บางคนกำลังจะได้เป็นนายพล..ส่วนหนูๆๆๆ ภาสะอื้น #

ส่วนหนูเป็นยังไงภา? # หนูก็ยังเป็นลูกจ้างประจำวุฒิปริญญาตรีกินเงินเดือนไม่ถึงสองหมื่นแหละค่ะ..# แต่หนูได้อย่างอื่นที่มีค่ามากกว่าค่ะ #อะไรเหรอภาที่ว่ามีค่าๆ # หนูได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ดีๆ จากพี่ๆ เกือบพันคน แล้วก็ได้สัมผัสประสบการณ์ทีีไม่ดีจากพี่ๆ หลายสิบคน..แต่หนูเลือกจดจำเฉพาะสิ่งที่ดีๆ เท่านั้นค่ะ..

คำขอบคุณที่หนูจดใส่กระดาษไว้เป็นลัง หากหนูเอาไปชั่งกิโลขายคงได้เงินไม่กี่ร้อยบาท..แต่หนูเก็บไว้เป็นสิ่งเตือนใจตัวเอง ให้ทำความดี เป็นกำลังใจ ไม่ให้ท้อค่ะ..#อาจารย์รูแล้วใช่มั๊ยคะว่าของ 3 อย่างที่หนูเก็บไว้คืออะไร?#

ผมอ่านใจภา..# หนึ่ง ประสบการณ์ที่ดีที่ได้เรียนรู้จากการสัมผัสผู้คนนับพัน สอง คุณค่าแห่งความดีงามที่ภาได้ทำไปทั้งหมดเป็นกำลังใจมห้ตัวเอง และ สาม การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ คือการเรียนปริญญาโท

ใช่แล้วค่ะอาจารย์ณัฐฐ์..หนูทำไปเหนื่อยแค่ไหนก็ไม่เป็นไร หนูภูมิใจที่ได้ทำค่ะ..ขอเพียงอย่างเดียวคือ..ขอให้พี่ๆ เรียนให้ได้ความรู้กันมากๆ เรียนกันให้จริงจัง เรียนกันให้เต็มที่..เพราะหนูๆๆ# อะไรเหรอภา# หนูเองก็อยากเรียนโทตั้งแต่ปี 2550 แล้ว แต่หนูไม่มีโอกาสเรียน..ตอนนี้ก็รุ่น 10 แล้ว..!!

หนูมีความสุขมากที่เห็นพี่ๆ เค้าตั้งใจเรียนกัน..มันชดเชยความรู้สึกในจิตใต้สำนึกของหนู..เหมือนกับทฤษฎีอะไรนะ..อือม์ ทฤษฎีการสื่อสารเพื่อทดแทน (Displacement) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารเพื่อการชดเชย (Sublimation) ในสิ่งที่หนูไม่มีีโอกาสได้ทำค่ะ..#

ฟังภาเล่ามาถึงตอนนี้..น้ำตาของผมซึมออกมาโดยไม่รู้ตัว..

ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
21 มิถุนายน 2556

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมื่อครูบาอาจารย์ลุกขึ้นมาทำ SWOT ตัวเอง

การวิเคราะห์ SWOT ตนเองของครูบาอาจารย์ในปี พ.ศ. 2556
TEACHER SELF SWOT 2013

เมื่อครูบาอาจารย์ลุกขึ้นมาทำการ SWOT ตัวเอง ในปี ค.ศ. 2013
ปรากฏผลการวิเคราะห์ดังนี้

จุดแข็งของครู (Strength) :    รอบรู้ แสวงหาความรู้มาสอนคนอื่นได้แทบทุกเรื่อง

จุดอ่อนของครู (Weakness) : ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเอง ลืมสอนตัวเอง คิดว่าตัวเองรู้หมดทุกเรื่อง
โอกาสของครู (Opportunity) : มีผู้คนสมัครใจเข้ามาให้สอนเรื่อยๆ พร้อมที่จะเชื่อฟังอยู่เสมอ เพราะ
                                               ตำแหน่งทางวิชาการ ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง เกียรติคุณ อำนาจ บารมี
                                               ยินยอมที่จะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของครูอาจารย์
                                               เพราะมีอำนาจเหนือกว่าในการให้เกรด A B C D E F แก่นักเรียน นิสิต
                                               นักศึกษา และผู้เรียน อันยากที่จะโต้แย้งได้สำเร็จ
ภัยคุกคามของครู (Threat) :   คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ดาวเทียม ระบบเซลลูล่าร์ 3G 4G 5G etc.
                                              สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต iPhone iPAD โซเชียลมีเดีย YouTube เว็บไซต์
                                              ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self learning)
                                               ความขยันหมั่นเพียร และความใฝ่เรียนใฝ่รู้
                                               ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้เรียนสมัยใหม่ ซึ่งเป็น
                                               ผู้เรียนที่ชาญฉลาด (Smart Student / Smart Learner)

         ขอเปิดเผยความรู้สึกในระหว่างที่ทำการวิเคราะห์ว่า ผู้ทำ SWOT เองวิเคราะห์ไป พร้อมๆ กับ
ความหวั่นไหว หวาดกลัว และวิตกกังวลเป็นอย่างมาก

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
20 มิถุนายน 2556

เราจะค้นหา..คนที่อยากเรียนปริญญาโทอย่างแท้จริงได้อย่างไร ??

ทำไมจึงเรียนปริญญาโท..

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า การคัดเลือกบุคคลมาเรียนปริญญาโท ควรมีการสอบสัมภาษณ์ เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกว่า..

1. ทำไมจึงมาเรียนปริญญาโท ? (ทั้งๆที่สำเร็จขั้นพื้นฐานระดับ ป.ตรี มาแล้ว)
2. จะเรียนไปเพื่ออะไร คิดว่าจะได้อะไรจากการเรียนปริญญาโท ?
3. เรียนปริญญาโทนิเทศศาสตร์ ด้วยเหตุผลอะไร คิดว่าวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสารจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ตนเอง ครอบครัว การทำงาน ชุมชน สังคม ได้อย่างไร (คำตอบแบบจริงๆ ไม่ fake เพียงเพื่อให้สอบได้)
4. ถ้าผู้สมัครเรียนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสาร "ขนาดนั้น" "ผู้สมัครเรียนจะทำอะไรเป็นพิเศษ" นอกเหนือจากการเรียนการเข้าสัมมนาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด นอกเหนือจากการทำรายงานส่ง นอกเหนือจากการพรีเซ้นท์ ที่ส่วนมากทำกันแบบ "วรรณกรรมเร่งด่วน"  และ "อุตสาหกรรมเหมาโหล"
5. ข้อสุดท้าย..ขอถามเพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า คุณจะทำตามที่คุณพูดถึงไว้ ใน ข้อ 1 ถึง ข้อ 4 อย่างจริงจังแค่ไหน ??

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
20 มิถุนายน 2556

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโทรทัศน์ไทยในช่วงเย็น..กับประเด็นการลดราคารับจำนำข้าว

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโทรทัศน์ไทยในช่วงเย็น..กับประเด็นการลดราคารับจำนำข้าว
............................................................................................................................................
มองผังรายการที่เสนอทางสือโทรทัศน์กระแสหลักที่มี coverage สูง มี impact สูง และมี influence สูง ในช่วงเย็น..โดยเฉพาะเมื่อวานนี้วันที่ 19 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลประกาศราคารับจำนำข้าว 12,000 บาทต่อตัน
.......................................................................................................................................
ช่วงเวลา 18.00-18.45 น. ช่วงเวลาที่ชาวนาและเกษตรกรไทย กำลังล้อมวงกินข้าวเย็น
ช่อง 3 ละคร
ช่อง 5 Hard Core ข่าว และ ข่าวภาคค่ำ
ช่อง 7 ละคร เรื่องใหม่ "โทน"
ช่อง Thai PBS โลกวิทยาการ
.........................................................................................................................................
ขณะที่ชาวนาทั่วประเทศกำลังหวาดหวั่น เครียด (tension) วิตกกังวล (anxiety)
.........................................................................................................................................
สิ่งที่ชาวนาต้องการในขณะนั้น ควรจะเป็น information ที่ให้ความเข้าใจ
1. เสนอสาเหตุของปัญหา ว่าทำไม รัฐบาลจึงปรับราคารับจำนำข้าวลดลงมา เหตุผลเพราะอะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร (explaination)
2. เสนอความคิด ทางออกของปัญหา และแนวทางแก้ไข สำหรับชาวนา (Solution & Problem solving)
3. เสนอเนื้อหาการให้กำลังใจ บรรเทาทุกข์ทางจิตใจของชาวนา (Cathasis)
............................................................................................................................................
พิจารณาการทำหน้าที่ทางการสื่อสาร (Media function) ของสื่อโทรทัศน์

..ช่อง 3 และ ช่อง 7 เลือกทำหน้าที่เฉพาะข้อ 3 เพื่อให้สนุกๆๆ ลืมๆๆ ปัญหาแบบชั่วครั้งชั่วคราว กินข้าวเย็นแล้วมานั่งทุกข์กันต่อไป ว่าจะขาดทุนเท่าไหร่ จะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้

..ช่อง 5 เลือกทำหน้าที่ข้อ 1  และ ข้อ 2 สัมภาษณ์นายกสมาคมชาวนาไทย และนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และเกาะติดประเด็นข่าวรับจำนำข้าวต่อในข่าวภาคค่ำ..ชาวนากินข้าวไป ดูข่าวไปได้รู้ข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตนเองและครอบครัว เพื่อหาหนทางต่อสู้ชีวิต

..ช่อง ThaiPBS เลือกทำหน้าที่แบบฉีกแนวให้ความรู้วิทยาการและวิทยาศาสตร์แก่คนชั้นกลาง

(ขออภัยที่ไม่ได้ดูช่อง 9 และ ช่อง 11 เพราะถือหลักเกณฑ์ในการเลือกรับชมตาม coverage และ impact)

ในชั้นยังไม่ได้วิเคราะห์แต่อย่างใด เพียงแค่นำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมมาพิจารณาเท่านั้น..แต่ก็พอจะมองเห็นความคิด นโยบาย และแนวทางการดำเนินงานของแต่ละสถานีได้พอสมควร

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
20 มิถุนายน 2556

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความหมาย..การพันธนาการตนเองของมนุษย์

ความหมาย..
มนุษย์สร้างความหมายขึ้นมามากมาย 
เพื่อแสดงออกถึง ความเป็นอิสระและเสรีภาพของมนุษย์
แล้วก็นำตนเองเข้าไปผูกตรึงจองจำอยู่กับความหมาย
ที่ตนเองสร้างขึ้นมาอย่างดิ้นไม่หลุด..

                    ภาพลักษณ์ พิธีกรรม ความเชื่อ กรอบความคิด ค่านิยม การแสดงความรัก
แฟชั่น อาหารการกิน รวมทั้ง การโอ้อวดตนเองผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย 
นี่แหละคือ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของความหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นมา 
และกำลังถูกพันธนาการมนุษย์ไว้อย่างแน่นหนา
โดยกับดักที่ตนเองสร้างขึ้นมาเองกับมือ..
                    (อ้างอิงถึงแนวคิดของ เวเบอร์)

ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
19 มิถุนายน 2556

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ต้นน้ำ..แหล่งความรู้ทีีี่แท้ ที่หาได้ยากยิ่งในยุคสมัยสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร

ต้นน้ำ..ธรรมชาติของต้นน้ำที่แท้จริงจะมีที่มาจาก "ธรรมชาติ" ซึ่งได้สร้างองค์ประกอบและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสม จนกระทั่งก่อกำเนิดเป็นต้นน้ำ น้ำที่เริ่มออกเดินทางจากแหล่งที่เป็นต้นน้ำ ยังเป็นน้ำบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ปราศจากจากสารพิษและมลภาวะ

จนกระทั่งน้ำเดินทางผ่านกาลเวลาและเดินทางผ่านสถานที่อันมีหมู่มนุษย์อาศัยอยู่..น้ำที่เดินทางมาด้วยความบริสุทธิ์ ได้สัมผัสกับน้ำมือมนุษย์ ที่ได้ใช้บริโภค กิน อยู่ พักอาศัย ชำระล้างสิ่งสกปรก รวมทั้งนำไปเป็นส่วนผสมในกระบวนการผลิตสิ่งประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาบนโลก เพื่อให้มนุษย์บริโภคและใช้สอยกันต่อไปอีก..น้ำที่เคยใสสะอาดและบริสุทธิ์ จึงเริ่มขุ่นมัวทีละน้อยๆๆๆ จนกลายเป็นน้ำที่ไม่สะอาด ไม่สะอาดเพียงพอที่แม้จะดื่มกิน บางแห่งไม่สะอาดเพียงพอแม้จะใช้ชำระล้างร่างกาย มนุษย์ยังต้องนำน้ำนั้นไป กรอง กลัาน ต้ม ผ่านความร้อน เพื่อขจัดสิ่งสกปรก สิ่งเจือปน และบรรดาเชื้อโรคทั้งมวลที่ปะปนอยู่ในน้ำ ก่อนที่จะนำน้ำมาบริโภคดื่มกินและใช้สอย

แม้กระทั่ง "ต้นน้ำ" เองที่เคยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ที่อยู่ไกลโพ้น ไกลทั้งพื้นที่ (space) ไกลทั้งเวลา (time) ยังถูกมนุษย์ตามไปรุกราน รังควาน ทำลายล้าง ด้วยรูปแบบวอธีการต่างๆ ทั้งการ "ถากถาง" ไถทำลาย ฆ่าฟัน ชีวิตที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งการบุกรุกไปถึงถิ่นด้วยตนเอง ทั้งการ "พ่นมลภาวะอันเป็นพิษ" ล่องลอยไปในอากาศไปไกลถึง "ต้นน้ำ" ทั้งการลักขโมย ดัดแปลง แอบอ้างความเป็นเจ้าของ นำมาใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปผสมสารพิษก่อนนำไปให้ผู้อื่นดื่มกิน นำไปผลิตสิ่งประดิษฐ์อย่างอื่นขึ้นมาทำลายร่างกาย จิตใจ และสมองผู้อื่น ทั้งกระทำโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความโง่เขลาเบาปัญญา

ชาวจีนโบราณดั้นด้นไกลหลายพันลี้ เพื่อที่จะเสาะหาต้นน้ำ เพื่อนำมาปรุงยา เพื่อนำมารักษาชีวิต เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิต..คนโบราณเสาะหาทรัพยากรธรรมชาติอย่างเช่นต้นน้ำที่ถือว่าเป็น "ต้นแหล่ง" (primary resources) ด้วยเชื่อกันว่า นั่นคือ ความบริสุทธิ์ นั่นคือความจริง นั่นคือธรรมชาติ และเชื่อว่าที่ "กลางน้ำ) น้ำมักไม่ใส ไม่สะอาดเพียงพอ เนื่องจากผ่านการย้ำยีโดยมนุษย์ และที่ "ปลายน้ำ" ยิ่งเชื่อกันว่า น้ำบริเวณนั้น ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์เพียงพอที่จะดื่มกืน ไม่บริสุทธิ์เพียงพอที่แม้แต่จะ "เชื่อ" ว่าสะอาดจริง

"ความรู้" (knowledge) ก็ไม่จากจาก "น้ำ" ที่มีทั้งน้ำที่ได้มาจากแหล่งน้ำที่เป็น "ต้นน้ำ" ! "กลางน้ำ" !! และ "ปลายน้ำ" !!!

ความรู้ที่มีอยู่ในตำรับตำราโบราณสมัยเมื่อร้อยปีพันปีจึงมีค่ายิ่งนัก ความรู้ที่ได้จากการค้นพบ การสังเกต การตรวจสอบ การพิสูจน์ การทดลอง การยืนยัน ที่เขียนบันทึกไว้ พิมพ์ไว้ ตั้งอต่ในอดีตเมื่อร้อยปีจึงมีคุณค่า ได้รับความเชื่อถือ ถูกนำไปใช้สอน ถ่ายทอด ประยุกต์ และพัฒนาต่อ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ

ต่างกับ "ความรู้" (knowledge) ในสมัยนี้ ที่มีค่าเป็นเพียง "ข้อมูลข่าวสาร" (information) ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยน ซื้อ ขาย รื้อใหม่ ผลิตซ้ำ ผลิตใหม่ โดยอาศัย "หัวเชื้อ" จากต้นน้ำเพียงน้อยนิด ก็สามารถนำมาดัดแปลง นำมาผลิตซ้ำ (reproduction) กันอย่างง่ายดาย แพร่หลาย รวดเร็ว ทั่วโลก โดยหาจำต้องใส่ใจว่าความรู้นั้น จะถูกต้อง เที่ยงตรง แม่นยำ เชื่อถือได้ เป็นคุณประโยชน์ เป็นโทษ เป็นพิษ เป็นภัย ต่อระบบร่างกาย สมอง และความคิดของมนุษย์หรือไม่..!!

ขอเพียงได้ชื่อว่าตนเองได้ทำการสื่อสาร ได้เป็นผู้ผลิต (produce) ได้เป็นผู้เผยแพร่ (distribute) ได้เป็นผู้ผลิตซ้ำ (reproduce) ได้ทำ (make) ได้ทำซ้ำใหม่ (remake) ให้เป็นที่รับรู้ ให้เป็นที่ยอมรับ ให้เป็นหน้าตา ชื่อเสียง ได้สร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตน..ก็เป็นพอ

โดยหาจำต้องสนใจมุ่งมั่นที่จะแสวงหาความจริงและตรวจสอบความจริง หาจำต้องสนใจที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ขึ้นไปอีก กระทั่งหาจำต้องให้ความสนใจว่า "ต้นแหล่งแห่งความรู้" หรือ "ต้นน้ำ" นั้นคืออะไร มีความหมายที่แท้จริงอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร มีทฤษฎีอย่างไร มีหลักการอย่างไร..ขอเพียงได้นำความรู้นั้นมาดัดแปลงให้เป็นข้อมูลข่าวสารที่จะใช้สื่อสารกันได้เป็นพอ

ดังเราจะเป็นภาพสะท้อนเหล่านี้ได้ใน โซเชียลมีเดีย (social media) ชุมชนออนไลน์ ห้องเรียน ห้องสัมมนา ห้องประชุม ทั้งในการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ในสถาบันการศึกษา รวมทั้งเวทีสัมมนาวิชาการทั่วไป

นิยามใหม่ของ ความรู้.."ความรู้ คือ ข้อมูลข่าวสาร ที่อาจถือเอาได้ ครอบครองได้ ดัดแปลงได้ นำไปใช้ได้ นำไปเผยแพร่ได้ นำไปซื้อ ขาย แลก เปลี่ยน ได้ ผ่านระบบตลาด ระบบการสื่อสารทุกชนิด ทั้งการพูด ฟัง อ่าน เขียน พิมพ์ โดยไม่จำกัดสถานที่และพื้นที่ (space) โดยไม่จำกัดเวลา (time) ไม่จำกัดบุคคล (men) ที่จะนำไปใช้ โดยมิพักต้องตรวจสอบถึงความจริง -ความไม่จริง ความถูกต้อง-ความไม่ถูกต้อง ความเชื่อถือได้-ความเชื่อถือไม่ได้

โลกวันนี้ เราจึงไม่อาจที่จะคาดหวังถึง การได้พบพาน "ความรู้" จากแหล่งความรู้ที่เป็น "ต้นน้ำ" กันได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในยุคสมัยสังคมข้อมูลข่าวสาร

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
18 มิถุนายน 2556

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เราจะอยู่กันอย่างไร..อะไรคือ หนทางของเรา ??


เราจะอยู่กันอย่างไร..อะไรคือ หนทางของเรา ??
ในโลกปัจจุบันที่เราอยู่ในสภาวะเอ่อล้นด้วย (1) สื่อ ช่องทาง และพื้นที่ในการสื่อสาร (abundantly/overflow communication media)  (2) ความง่ายในการเข้าถึง (access to media) สื่อ (3)ความง่ายสะดวกและรวดเร็วในการสืื่อสาร แบบ anywhere-anytime communications..ส่งผลให้เกิดสภาวะสืบเนื่องตามมา (consequential effects) คือ (a) เจ้าของสื่อ เจ้าของธุรกิจ และฝ่ายการเมือง ทำการสื่อสารอย่างหนักเพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดของประชาชน (b) ประชาชนทั่วไปมีความสามารถในการทำการสื่อสารมวลชนด้วยตนเองแบบอิสระ (individual mass communication) (c) การปะทะกันทางความคิด ระหว่างเจ้าของธุรกิจ/ฝ่ายการเมือง กับ เจ้าของธุรกิจ/ฝ่ายการเมืองด ระหว่างเจ้าของธุรกิจ/ฝ่ายการเมือง กับ และระหว่างฝ่ายประชาชน ฝ่ายประชาชน กับ ฝ่ายประชาชนด้วยกันเอง..

สภาวะเช่นนี้ ประชาชนจึงมิได้เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยุ่อย่างเป็นอิสระที่แท้จริง เพราะอย่างน้อยที่สุด ประชาชนจะได้รับการโน้มน้าวชักจูงใจ หรือกดดัน หรือบีบบังคับ ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ (a)  เลือกบริโภคอาหารการกินและสิ่งของเครื่องใช้ ของธุรกิจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (b) เลือกเปิดรับ ชื่นชม หลงไหล และตอดตามสื่อรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เลือกที่จะรับ เลือกที่จะมีทัศนคติ เลือกที่จะเชื่อ เลือกที่จะปฏิบัติตาม ความคิด/ค่านิยม/แบบอย่าง/ตัวแบบ/พฤติกรรม ของบุคตล กลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (c) เลือกที่จะปิดรับ ผละหนี ละทิ้ง ปฏิเสธ ต่อต้าน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย เพื่อสร้าง "หนทาง" ของตนเอง ผ่านการใช้สื่อสมัยใหม่ เช่น โซเชียลมีเดีย หรือผ่านรูปแบบทางสังคมแบบทางเลือกชนิดอื่น เช่น กลุ่มสังคม ชุมชนออนไลน์ การรณรงค์เชิงสัญญะ

คำถามที่เราต้องตอบในวันนี้คือ..ประชาชนเ็นอิสะทางความคิดจริงหรือ ประชาชนปลอดจากการโน้มน้าว จูงใจ คุกคาม ครอบงำ ทางความคิดจริงหรือ ? หากไม่จริงประชาชนจะมีหนทางของตนเองอย่างไร ?

"หนทาง" ของประชาชนยังมีอยู่ คือ
(1) เปิดรับอย่างชาญฉลาด (smart receiver)
(2) เรียนรู้อย่างชาญฉลาด เพื่อให้รู้เท่ารู้ทัน (smart learner)
(3) แยกกันเรียนรู้ ร่วมกันเรียนรู้ สร้างพลังการมีส่วนร่วม (smart participator)
(4) กำหนด "หนทาง" ของตนเอง กลุ่มตนเอง โดยไม่ยอมจำนน ไม่ยอมอยู่ภายใต้การโน้มน้าวชักจูงใจ หรือกดดัน หรือบีบบังคับ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ของฝ่ายธุรกิจ/ฝ่ายกลุ่มผลประโยชร์/ฝ่ายการเมือง (self 
"หนทาง" ของตนเอง ต้องยืนบนขาตนเองได้จริง พึ่งพาตนเองได้จริง
(5) พัฒนานวัตกรรมของตนเอง (self innovation development) ทั้งนวัตกรรมทางความคิด นวัตกรรมทางวิชาการ นวัตกรรมสื่อ นวัตกรรมรูปแบบสังคม นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ นวัตกรรมทางการเมือง นวัตกรรมสิ่งของเครื่องใช้ และนวัตกรรมรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตภายใตสังใหม่แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
16 มิถุนายน 2556

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ก้าวแรกแห่งการพัฒนา..Features - Advantage - Benefits - Ethics

ก้าวแรกแห่งการพัฒนา..คือ การพัฒนาคน

รายชื่อและประวัติย่อสั้น ของ นศ.ม. รุ่น 10 ที่ผมโพสต์ไปจำนวน 6 คน..ตามข้อมูลที่ผมมีในมือ เนื่องจากนักศึกษาทั้ง 6 คนดังกล่าว ผมเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ ผมจึงได้รับข้อมูลมาในวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2556

ผมนำมาโพสต์ไว้เพื่อให้เป็นแนวทางในการสื่อสารข้อมูลระหว่างนักศึกษาและศิษย์เก่านิเทศศาสตร..เป็นเพียงแนวทางที่กระตุ้นให้นักศึกษานำไปคิด นำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม หลายคนอาจมีประสบการณ์ใช้สื่อออนไลน์มาก อาจทำได้ดีกว่านี้หลายเท่า

การมีส่วนร่วมและการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วม..เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่าย..คงเป็นพันธกิจที่จะต้องสืบสานต่อโดยคณะนักศึกษา นศ.ม. รุ่น 10 โดยประธาน รองประธาน และนักศึกษาทุกคน พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม

แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทุกคนควรตระหนัก..คือ..ความเข้มแข็งของกลุ่ม ของชุมชน ของสังคมใดๆ ก็ตาม..จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ กลุ่ม ชุมชน และสังคมนั้น..มีสมาชิกกลุ่มที่เข้มแข็ง

ความเข้มแข็งในตนเองสำหรับนักศึกษาในวันนี้คือ..ความสามารถด้าน "การเรียนรู้ด้วยตนเอง" (Self Learning) และ ความสามารถด้าน "การพึ่งตนเองได้" (Self Reliance) ความสามารถทั้งสองส่วนนี้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกคน ซึ่งในทางวิชาการถือว่า เป็นแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อคนเข้มแข็ง กลุ่มก็เข้มแข็ง
เมื่อกลุ่มเข้มแข็ง ชุมชนก็เข้มแข็ง
เมื่อชุมชนเข้มแข็ง สังคมก็เข้มแข็ง

ผู้คนและสังคมภายนอก เขาอาจจะ "รู้จักเรา" จากการทำกิจกรรมสู่สังคม จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จากการประชุมพบปะ

แต่..เขาจะ "ยอมรับเรา" ก็ต่อเมื่อ..เราได้แสดงออกให้เห็นถึง ฝีมือความสามารถในการทำงาน การแก้ปัญหา และการสร้างผลงานเชิงประจักษ์ให้ผู้คนได้พบเห็น ได้ใช้ประโยชน์ อันเป็นผลที่ได้รับมาจากการศึกษาปริญญาโทนิเทศศาสตร์

ในทัศนะของผมเห็นว่า..ผู้คนและสังคมที่จะ "ยอมรับเรา" เขาไม่ให้ความสำคัญกับ Features ของเรามากนักหรอก..แต่เขาสนใจเราที่ Advantage มากกว่า

แต่สิ่งที่ผู้คนและสังคมเขาสนใจมากที่สุดและจะยอมรับเรามากที่สุดคือ เรื่อง Benefits
เราในฐานะที่เป็นผู้จบปริญญาโทนิเทศศาสตร์ มสธ. จะมี Benefits อย่างไร..ทำอะไรให้สำเร็จได้ แก้ปัญหาอะไรได้ พัฒนาอะไรได้ สร้างสรรค์นวัตกรรมอะไรที่เป็นประโยชนต่อสังคมได้

และที่สิ่งสุดท้ายที่เขาเอามาตัดสินเราคือ ความมีคุณธรรมจริยธรรม

ดังนั้น เราจึงควรตระหนักอยู่เสมอว่า..เราต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางวิชาการเป็นอันดับหนึ่ง เพราะพวกเราเข้ามาที่นี่ด้วยเหตุผลนี้

วิชาการนิเทศศาสตร์บวกกับต้นทุนชีวิตที่แต่ละคนมีมาก่อน จะช่วยให้เรา "หาข้อมูลเป็น คิดเป็น วิเคราะห์เป็น วางแผนเป็น แก้ปัญหาเป็น"
 
ขณะเดียวกันเราก็ไม่ละทิ้งการเรียนรู้ภาคประสบการณ์ชีวิตระหว่างเรียน เพราะประสบการณ์จะสอนให้เราแก้ปัญหาในสถานการณ์จริงได้

ในทัศนะของผมคือ..เราต้องทำทั้งสองด้านให้สมดุลย์

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
11 มิถุนายน 2556

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเรียนรู้ด้านนิเทศศาสตร์..แบบรู้เท่า..รู้ทัน..

การเรียนรู้ด้านนิเทศศาสตร์..แบบรู้เท่า..รู้ทัน..

นิเทศศาสตร์เราสามารถเรียนรู้ได้จากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม..

ขั้นต้น เราสนใจว่ามันคือ "อะไร" ดังตามแนวคิด 5 W 1 H ใคร อะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน ทำไม และอย่างไร เป็นการมองเหตุการณ์แบบตรงไปตรงมา..เห็นอย่างไรก็ว่าไปอย่างนัั้น

ขั้นที่สอง เราสนใจเรื่องราวในมุมมองว่า "อย่างไร" ตามโมเดลนี้..

แหล่งข่าว > ผู้สื่อข่าว > เนื้อข่าว> สื่อ/ช่องทาง > ผู้รับสาร

ขั้นที่สาม เราเริ่มสงสัยว่า..ใคร ? และทำไม? ตามโมเดลนี้
....A...> แหล่งข่าว > ผู้สื่อข่าว > บรรณาธิการข่าว > เนื้อข่าว > สื่อ/ช่องทาง > ผู้รับสาร >

> ผลกระทบต่อผู้รับสาร (ทั้งโดยความตั้งใจ (manifest) และโดยไม่ตั้งใจ (latent) >

ผลที่เกิดขึ้นและผลสืบเนื่อง...> ทำไม  (เขาจึงทำเช่นนั้น)


ปรากฏการณ์ที่นักนิเทศศาสตร์ ควรให้ความสนใจ คิด วิเคราะห์ ทำความเข้าใจมากที่สุดในห้วงเวลานี้คือ..

ปรากฏการณ์ การตรวจสอบ ตรวจค้น "รถยนต์หรู" กว่าสี่พันคัน
วิเคราะห์ทุกคนที่เกี่ยวข้องว่า..ทำไม..เขาจึงทำเช่นนั้น

วิเคราะห์ทุกคน..
ประธานบริษัทรถยนต์หรู พนักงานขายรถยนต์ เจ้าของเต๊นท์รถยนต์ อู่รถยนต์ที่รับจดประกอบ (คำว่าจัดประกอบเป็นภาษากฎหมาย) ผู้ซื้อรถหรู ผู้มีชื่อเป็นนเจ้าของรถหรู ผู้ครอบครองรถหรู ผู้มีอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักสืบ พนักงานสอบสวน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เลขานุการ รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี

เราสมควรทำการวิเคราะห์ เพื่อฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ให้ชัดเจน มีเหตุผล พยานหลักฐานประกอบ มองอย่างรอบด้าน แล้วเราจะเข้าใจภาพนั้นชัดเจนขึ้น

แต่ก่อนที่เราจะวิเคราะห์ได้..
เราจะต้องมี "ข้อมูล" ที่เกี่ยวข้องมากพอสมควร และ
เราจะต้องมีความสามารถทางการคิดและการวิเคราะห์ด้วย
รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
10 มิถุนายน 2556

ทฤษฎีการสื่อสาร..คลาสสิค ล้าสมัย หรือ ร่วมสมัย

ทฤษฎีการสื่อสาร..คลาสสิค ล้าสมัย หรือ ร่วมสมัย

กลยุทธ์ต่างๆที่มนุษย์นำมาใช้เพืี่อ..

เบี่ยงเบนความสนใจเบี่ยงเบนประเด็น

แย่งชิงพื้นที่ข่าวในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

จัดวาระข่าวสาร  (Agenda setting) เผยแพร่ด้วยขนาดพื้นที่ เวลา ความถี่ เพื่อให้ข่าวบางประเภทมีความสำคัญโดดเด่นกว่าประเด็นข่าวอื่น

ปลูกฝังเพาะบ่ม (Cultivation) ให้ความคิด ค่านิยม และคุณค่าบางเรื่องซึมซับลงไปในจิตสำนึก และจิตใต้สำนึกของประชาชนทั่วไปในวงกว้าง เช่น เรื่องความงาม ความสวย ความหล่อ ความขาว ความเก่ง การมีผลงานที่โดดเด่น การเป็นผู้นำกระแส

เหล่านี้คือ..กลยุทธ์ทางการสื่อสารที่นำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เช่น ตลาดหุ้น ตลาดทองคำ ในทางการเมือง เช่น การชื่นชมความสามารถ การสร่างภาพลักษณ์ที่ดี การปิดบังข้อผิดพลาด

กลยุทธ์เหล่านี้..ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจ รู้เท่ารู้ทัน และนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้จากการเรียนรู้ในระดับปริญญาโท-เอก ทั้งสาขาวิชานิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์

กลยุทธ์เหล่านี้..พัฒนาเป็นทฤษฎีการสื่อสาร โดยนักคิดชั้นนำของ เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส อเมริกัน อังกฤษ ได้ศึกษาวางรากฐานกันมากว่า 50 ปี

บางคนว่าล้าสมัย..แต่ก็ยังใช้กันอยู่ในระดับประเทและระดับโลก

จริงอยู่ที่บางส่วนล้าสมัย..แต่บางส่วนก็คลาสสิค ใช้ได้หลายครั้งก็ยังคลาสสิค 

บางส่วนก็มีความร่วมสมัย ประยุกต์ใช้ ดัดแปลงได้กับบริบทต่างๆ เช่น เหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้ของไทย และเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น ก็มีความร่วมสมัย ทฤษฎีที่ใช้ก็ร่วมสมัย

เราจึงต้องรู้ ต้องเข้าใจ ต้องเลือกใช้

มีความรู้ให้เรียน ให้ค้นหา ให้นำมาใช้แก้ปัญหา และนำมาใช้ในการพัฒนา มากมาย
กว่าท่านเหล่านั้นจะคิดได้ ต้องอาศัยเวลาในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย มาเป็นเวลานาน

เรา..เพียงเรียนรู้จากท่าน ผ่านชิ้นงาน ผ่านความคิด ผ่านทฤษฎี ที่ท่านสร้างไว้
เพื่อเรียนรู้ เพื่อเข้าใจ เพื่ออธิบาย เพื่อรู้เท่ารู้ทัน เพื่อแก้ปัญหา เพื่อพัฒนา
ตนเอง การงาน ชีวิต ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศของเรา และโลกของเรา

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์. สุทธิโยธิน
10 มิถุนายน 2556

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Smart Learner เเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการศึกษาและการพัฒนา : จากการสร้างความรู้มาสู่การสร้าง คนที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองแบบชาญฉลาด

"เรื่องความรู้ไม่มีวันพอใจ เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา..เรารู้ในวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะไม่ใช่แล้ว เปลี่ยนแล้ว"

แนวคิดสำคัญของคุณธนินท์ เจียรวนนท์..ผู้ที่สูงยิ่งด้วยประสบการณ์ ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลยิ่งที่ได้ปาฐกถาไว้ในการประชุมบอร์ดเกษตรประจำเดือน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2556 (อ้างอิงจาก Page We are CP วันที่ 9 มิ.ย. 56)

ในทัศนะของผม..อันได้แรงบันดาลใจมาจากข้อคิดของคุณธนินท์ที่ชี้ว่า..ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่คงที่ ความรู้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกวัน ทุกนาที..

ดังนั้น ผมจึงมีแนวคิดว่า..เราจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการศึกษาและการพัฒนาเสียใหม่

สิ่งที่เราจะต้องทำ ไม่ใช่เพียงแค่ การแสวงหาความรู้ ไม่ใช่เพียงแค่ การสร้างความรู้ เพื่อเอาไปสอนคนอื่น หรือผลิตความรู้สำเร็จรูป เช่น ตำรา ทฤษฎี คู่มือ ไปให้คนอื่นบริโภค ทำตามความรู้ตามตำรา เพราะมันอาจล้าสมัย และใช้ไม่ได้ผลไปแล้ว

หากแต่เราจะต้องเร่งพัฒนาเรื่อง "การสร้างคนให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง" (Self Learning)

สามารถค้นหาความรู้เองได้ สามารถสร้างความรู้เองได้ สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร มีอาชีพอะไร เป็นหมอ เป็นวิศวะกร เป็นพนักงานฝ่ายผลิต เป็นชาวนา เป็นเกษตรกร เป็นแม่ค้ารายย่อย เป็ผู้ทำธุรกิจ SME เขาเหล่านี้ควรจะต้องสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

นั่นก็คือ การพัฒนาให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้ (Self Reliance) ยืนบนขาตัวเองได้ พึ่งพาคนอื่นให้น้อย พึ่งตนเองให้มาก 

แม้กระทั่งเรื่องอาหารการกิน ต้องมีพืชมีผักมีไข่ไก่ของตัวเอง ต้องทำกับข้าวกินเองได้ ไม่พึ่งพาแกงถุง

ผมเชื่อมั่นในแนวทางนี้ แนวทางในการพัฒนาคนให้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และสิ่งที่ต้องกาีพัฒนาไปไกลกว่านั้นคือ การพัฒนาคนให้เป็น "ผู้เรียนรู้ที่ชาญฉลาด" Smart Learner

เมื่อปี 2015 มาถึง เมื่อเราเปิด AEC เราจะมีคนที่เป็น Smart Learner อยู่ไม่น้อย

ผมได้ดำเนินโครงการนี้แล้วในชุมชนเล็กๆ ของผม..แล้วผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
9 มิถุนายน 2556

กลยุทธ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนรู้ที่ชาญฉลาด และการพึ่งพาตนเอง: วิถีทางแห่งการพัฒนาแห่งยุคสมัย Self Learning - Smart Learner - Self Reliance: The way of contemporary development

กลยุทธ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนรู้ที่ชาญฉลาด และการพึ่งพาตนเอง: วิถีทางแห่งการพัฒนาแห่งยุคสมัย (Self Learning - Smart Learner - Self Reliance: The way of contemporary development

บทความนี้ผมเขียนขึ้นจาก การนำความคิดของผมที่ได้เสนอต่อที่ประชุมการวางแผนยุทธ์ศาสตร์ ของสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา

โดยในช่วงเวลานั้น ผมได้เสนอ แนวคิดเรื่อง "การเรียนรู้ด้วยตนเอง" (Self Learning) เพื่อนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านนิเทศศาสตร์ ทั้งการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอน ระบบการเรียนด้วยตนเองของนักศึกษา

โดยขณะนั้นผมเสนอแนวคิดให้เรามุ่งพัฒนาตัวนักศึกษา ให้เป็นบุคคลที่มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถสร้างหรือพัฒนาความรู้ด้วยตนเอง โดยอาศัยการเรียนรู้จากเทคโนโลยีการสื่อสาร (Communication Technology) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อินเทอร์เน็ต" ที่เป็นแนวโน้มที่สำคัญของโลกใขณะนั้น ในช่วงเวลานั้นผู้คนกำลังมุ่งเน้นการเรียนรู้จากสื่อประเภทออฟไลน์เช่น book, video, audio tape สื่อออไนไลน์เพิ่งจะเริ่มพัฒนาขยายการบริการแต่ผู้คนยังไม่สามารถจะ access ได้อย่างกว้างขวางเท่าปัจจุบัน

เมื่อยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งชนิดไร้สาย ชนิดเซลลูลาร์ ชนิดออนไลน์ พัฒนาและขยายพื้นบริการกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นจนเกือบจะทุกตารางเมตรของประเทศไทย จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้จุดแข็งตรงนี้มาใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองมากขึ้น

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การพัฒนา device เครื่องมือสื่อสารแบบ สมาร์ทโฟน (Smart phone) ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารแบบชาญฉลาด ช่วยให้เราทำอะไรได้เกือบทุกอย่างที่เกี่วข้องกับการติดต่อสื่อสาร ทั้งแบบ voice และแบบ none voice ยิ่งช่วยให้คนเราสามารถใช้สื่อเป็นช่องทางในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารด้วยตนเองได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น

เครื่องมือสื่อสารแบบชาญฉลาด (Smart devics) และระบบการสื่อสารที่ก้าวหน้าไปไกลจนถึง 3G 4G คือ ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่เราจะนำมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็น Smart Leaner สำหรับระบบการศึกษาแบบเปิดหรือระบบการศึกษาทางไกล และเป็น Smart Student สำหรับระบบการศึกษาแบบปิด

ผมมีความคิดในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็น Smart Learner เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self Learning) และนำไปสู่ "การพึ่งพาตนเอง" (Self Reliance) ดังนี้
...............................................................................................
แนวคิด
          การพัฒนาทัศนคติที่ดีต่อระบบการศึกษาทางไกล ให้เกิดขึ้นแก่นักศึกษาระดับนักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากการเรียนในระบบการศึกษาทางไกล เป็นการเรียนรู้ผ่านระบบการจัดการเรียนการสอนที่มีลักษณะเฉพาะ มีลักษณะแตกต่างจากระบบการศึกษาแบบพื้นฐานทั่วไปที่ใช้ในระบบมหาวิทยาลัยปิดซึ่งคนส่วนมากมีความรู้จักคุ้นเคย แต่การเรียนในระบบการศึกษาทางไกลมีลักษณะเฉพาะ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก เป็นการใช้รูปแบบการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเป็นหลัก โดยการเรียนรู้ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบการสื่อสารทางไกล (distance learning system) ต่างพื้นที่ต่างเวลา ตามความสะดวกและความเหมาะสมของนักศึกษา ประการที่สอง เป็นการใช้วิธีการติดต่อสื่อสารทางไกลหรือระยะไกล ระหว่างผู้เรียนกับอาจารย์ผู้สอน  ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนกับระบบบริการการศึกษาต่างๆของมหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ติดต่อสื่อสารกันทั้ง 3 คู่ สื่อสารต่างอยู่ไกลกัน ไม่ได้พบปะกันแบบเผชิญหน้าเป็นประจำเหมือนมหาวิทยาลัยที่ใช้รบบการศึกษาแบบปิด แต่อาจพบปะพูดคุยกันผ่านการสื่อสารทางไกล เช่น อินเทอร์เน็ต อีเมล์ แชท โทรศัพท์ และประการที่สาม  ด้วยลักษณะเฉพาะของระบบการศึกษาทางไกลดังกล่าว “นักศึกษา” จึงเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการให้การเรียนรู้ประสบผลสำเร็จ  (Student-based learning system) ซึ่งความสำเร็จในการเรียนของนักศึกษาส่วนหนึ่งโดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับองค์ประกอบในส่วนของ “นักศึกษา” จะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ
ประการแรก ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อระบบการศึกษาทางไกล (Knowledge)
ประการที่สอง การมีทัศนคติที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับการเรียนรู้ด้วยระบบการศึกษาทางไกล (Attitude)
ประการที่สาม การมีความเชื่อมั่น มีทักษะวิธีการในการเรียนรู้ด้วยตนเอง  (Self learning) ในระบบการศึกษาทางไกล เช่น การแสวงหาความรู้จากสื่อต่างๆ ทั้งสื่อที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ให้และสื่อการเรียนรู้ที่มีอยู่อย่างกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งหมายรวมถึงการใช้ปัจจัยทางด้านจิตวิทยาที่ช่วยเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีพลังทางด้านจิตใจที่เข้มแข็ง มีความเชื่อมั่น มีความอดทน รู้จักค้นหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาชีวิตของตนเองได้
เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบในส่วน “นักศึกษา” จะพบว่า นักศึกษาที่สมัครเข้ามาศึกษาในหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มาจากหลากหลายสาขาวิชาความรู้ หลากหลายสาขาอาชีพ หลากหลายประสบการณ์ สำหรับกลุ่มนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมักจะมีประสบการณ์ ความรู้ ทัศนคติ และทักษะการเรียนในระบบทางไกลดีพอสมควรอยู่แล้ว แต่สำหรับอีกนักศึกษาอีกส่วนหนึ่งที่สำเร็จการศึกษามาจกสถาบันการศึกษาอื่น ที่ใช้ระบบการศึกษาแบบปิด มักจะขาดประสบการณ์ส่วนนี้ เมื่อเข้ามาเรียนในระบบทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยที่ยังไม่มีความรู้ ทัศนคติ และทักษะวิธีการที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้อง อาจเป็นเป็นปัญหาและอุสรรคต่อการเรียน และอาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จในการศึกษาตามหลักสูตร จนเป็นเหตุให้นักศึกษาบางส่วนเปลี่ยนใจไม่ลงทะเบียนเรียน บางส่วนลาออกกลางคัน และบางส่วนศึกษาไม่สำเร็จ จากปัญหาดังกล่าวจึงสมควรมีการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ และพัฒนาทัศนคติที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับการเรียนรู้ในระบบการศึกษาทางไกลให้แก่นักศึกษา  เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกลงทะเบียนหรือไม่ลงทะเบียนเรียน แก้ไขปัญหาการลาออกกลางคัน เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกมั่นใจในการเรียนรู้ในระบบการศึกษาทางไกล และเพื่อส่งเสริมความสำเร็จทางการศึกษาของนักศึกษาที่สมัครเข้ามาเรียนใหม่ทุกคน นอกจากเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีคุณลักษณะที่เรียกว่า “Smart learner” หรือ เป็นผู้เรียนที่มีความชาญฉลาดในการเรียนรู้ มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ (Self reliance) ในการเรียนและการดำเนินชีวิต

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
วันที่ 9 มิถุนายน 2556

หมายเหตุ ผมมีความคิด แนวทาง และวิธีการ ในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็น Smart Learner เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self Learning) และนำไปสู่ "การพึ่งพาตนเอง" (Self Reliance) ซึ่งจะได้นำมาเสนอต่อไป 



วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

เด็กอนุบาลกับการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น..ภาพสะท้อนความบกพร่องทางความคิดและความกลวงทางสติปัญญาในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

ความบกพร่องความความคิดและความกลวงทางสติปัญญาในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

ภาพเด็กหญิงเด็กชายตัวน้อยๆ วัย 3 ขวบ ร้องเพลง "ลา ลา ลา โตไปไม่โกง ลา ลา ลา โตไปไม่โกง" พร้อมแสดงท่าทางประกอบ ในขณะเข้าแถวเคารพธงชาติในตอนเช้าที่โรงเรียนอนุบาล..

ภาพอาจจะดูน่ารักน่าเอ็นดูในสายตาครู อาจจะสร้างความพึงพอใจให้กับคนในหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยในฐานะที่เป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ

แต่สำหรับผม..มันคือภาพที่สะท้อนถึงความบิดเบี้ยวของสังคม มันคือภาพสะท้อนความกลวงทางความคิดและสติปัญญาของคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง..!!

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เกิดจากการกระทำชั่วของกลุ่มบุคคล 3 ฝ่ายสมคบคิดกัน คือ ฝ่ายนักการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายเอกชน ที่โกงเงินของรัฐและของประชาชน

โดยมีฝ่ายที่ 4 คือฝ่ายประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ..!!

แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำ แต่ก็ได้รับผลกระทบ มิหนำซ้ำสังคมยังกำหนดบทบาทหน้าที่ว่าประชาชนต้องร่วมรับผิดชอบต่อการโกงนั้นด้วย

แนวคิดนี้ผมไม่โต้แย้ง ประชาชนและสังคมต้องร่วมรับผิดชอบในผลผลิตของสังคม

แต่วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น โดยใช้แนวคิดว่า "การป้องกันต้องทำกันตั้งแต่อนุบาลจึงจะได้ผล" เป็นประเด็นปัญหาที่ต้องขบคิดพิจารณา..!!  

เมื่อคิดยุทธศาสตร์ป้องกันคอร์รัปชั่นแบบนี้แล้ว รัฐจึงใช้ยุทธวิธีการสื่อสารด้วยการปลูกฝังแนวคิดต่อต้านคนโกงและการโกงเข้าไปปลูกฝังในสมองของเด็กปฐมวัยตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1

ผมเห็นว่าแนวคิดและวิธีการแบบนี้เป็นแนวคิดที่อุบาทว์ที่สุด..!! เลวร้ายที่สุด..!! สร้างความเสียหายแก่เด็กตัวเล็กๆ ที่ไร้เดียงสามากที่สุด..!!

เหตุผลของผม..เด็กอนุบาล 1 มีอายุเพียง 3 ขวบ ร่างกายกำลังเจริญเติบโตจากวัยทารกไปสู่เด็กปฐมวัย ทุกคนยังดื่มนม ทุกคนยังกินข้าว นอนกลางวัน เด็กส่วนมากร้องไห้กระจองอแง เพราะต้องพรากจากอ้อมอกแม่มาโรงเรียน สภาพจิตใจย่ำแย่ หวาดกลัว อ้างว้าง คิดถึงแม่ คิดถึงบ้าน..

โรงเรียนและครูต้องทำหน้าที่แทนพ่อแม่ ให้ความรัก ให้ความอบอุ่น..พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่เด็ก..ทั้งด้านกายภาพ เช่น สถานที่ ที่เรียน ที่ทานอาหาร ที่นอน ที่ออกกำลังกาย..และด้านจิตใจ มีครูสองสามคนช่วยกันดูแลสภาพจิตใจเด็ก มีการออกแบบวิธีการเรียนการสอนให้เป็นการเล่น และการเรียนรู้จากการเล่น play and learn # ไม่ยัดเยียดวิชาการ แต่มุ่งจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมกับเด็กอายุ 3 ขวบ เพื่อให้เด็กเกิดความอบอุ่นมั่นคงทางจิตใจ..

ในขณะที่โรงเรียนพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่ดีให้แก่เด็กอนุบาล..กลับมีการบังคับเชิงนโยบายให้โรงเรียนอนุบาล สอดแทรกแนวคิดการป้องกันคอร์รัปชั่นใส่ลงไปในสมองของเด็กอนุบาลตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงอนุบาล 3

โดยใช้วิธีการให้ครูสอนในชั้นเรียน และใช้วิธีการบังคับให้เด็กร้องเพลง พร้อมกับเต้นและแสดงท่าทางประกอบ ในช่วงเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติตอนเช้า

ภาพที่ปรากฏคือ เด็กร้องเพลงพึมพำไป จำได้บางคำก็ร้อง จำไม่ได้ก็งึมงำทำท่าไปตามครูบอกและครูเต้นนำ

เด็กวัย 3 ขวบ ในทางจิตวิทยาถือว่า เป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ นักวิชาการด้านจิตวิทยาวิจัยค้นคว้าได้คำตอบว่า ควรสร้างสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่ดีให้แก่เด็ก ไม่ควรใส่ข้อมูลด้านลบให้แก่เด็กในวัยนี้ เพราะจะมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ การจดจำ การเกิดทัศนคติในทางที่ไม่ดี และจะส่งกระกระทบมาถึงตอนโตเป็นเด็กประถม มัธยม อุดมศึกษา

ความคิดเรื่องการยัดเยียดแนวคิดการต่อต้านการคอร์รัปชั่นใส่สมองเด็กอนุบาลมาจากไหน?? คำตอบคือมาจาก ฝ่ายรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น พยายามทุกวิถีทางที่จะต่อสู้กับปัญหาการคอร์รัปชั่น..คิดค้นยุทธศาสตร์ป้องกัน ทั้งมาตรการทางกฎหมายที่อาศัยการลงโทษเป็นเครื่องมือ มาตรการทางสังคมในการควบคุม ตรวจสอบ และกดดัน และมาตรการทางวัฒนธรรมในการถ่ายทอดปลูกฝังค่านิยม และอุดมการณ์ โดยใช้สื่อมวลชน และการสื่อสาร เป็นกลไกและเครื่องมือ

ใช้ยุทธวิธีการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรม..เพื่อถ่ายทอดแนวคิดการต่อต้านคอร์รัปชั่น..โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มหนึ่งคือ โรงเรียนและเด็กนักเรียน..ตัวอย่างเช่น

ก. การแต่งเพลงสอดแทรกแนวคิด (tied in)
ข. การเผยแพร่สื่อบทเพลงแบบบังคับยัดเยียดผ่านช่องทางการสื่อสารแบบบังคับควบคุมได้ (control media) เช่น การเข้าแถวตอนเช้า เสียงตามสาย สถานีวิทยุของโรงเรียน
ค. การบังคับให้เด็กเข้าค่ายอบรม

หน่วยงานภาครัฐเป็นต้นคิด ร่วมมือกับนักวิชาการในชื่อที่ใช้สร้างความเชื่อถือให้ตัวเองตั้งแต่แรกพูดถึงโดยปราศจากการตรวจสอบคว่มเป็น "อาจารย์" และ "นักวิจัย"ซึ่งความจริงก็เป็นเพียงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ช่วยกันคิดค้นยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี โดยอาศัยข้อมูลจากผลการวิจัยมาชี้ว่า "ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กจึงจะเอาอยู่" ต้องป้องกันตั้งแต่เด็ก จึงจะรับมือกับปัญหาคอร์รัปชั่นได้

นอกจากใช้กลไกรัฐแล้ว ยังใช้เงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนในการเผยแพร่ยัดเยียดแนวคิดนี้ให้แก่เด็กอนุบาล

เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบ ที่พ่อแม่และครูพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่ดีทุกชนิดให้แก่เด็ก พยายามปกป้องภัยอันตรายทั้งทางร่างกายและจิตใจที่จะเกิดขึ้นแก่เด็ก..ทั้งที่บ้าน..และที่โรงเรียน..กลับถูกทำร้ายด้วยภัยจากการกระทำอันบกพร่อง ภัยอันคาดไม่ถึงที่เกิดจากคนที่มีความรู้ มีวิชาการ มีอำนาจรัฐในมืิอ..## ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องนี้

ประเด็นแรกคือ คอนเซพท์ของคำว่า การโกง การฉ้อโกง การทุจริต การคอร์รัปชั่น คืออะไร..เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบ รู้จักไหม เข้าใจไหมว่ามันคืออะไร ?? แล้วทำไมเราจจึงจะไปยัดเยียดแนวคิดนี้ให้กับเด็ก 3 ขวบ 

ประเด็นที่สอง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นจากใคร ?? เด็กอนุบาล 3 ขวบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหาอย่างไร เด็กมีส่วนร่วมกับการกระทำผิดในฐานะใด ในฐานะตัวการ?? ผู้สนับสนุน ?? 

ประเด็นที่สาม เด็กต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และบริษัทเอกชน ด้วยหรือไม่ ?? หากต้องร่วมรับผิดจะต้องร่วมรับผิดในระดับมากน้อยเพียงใด ?? 

ประเด็นที่สี่ แม้เด็กจะเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมนี้ แต่ก็เป็นสมาชิกที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา (innocent) แตกต่างจากสมาชิกคนอื่นที่เป็นประชาชนทั่วไปที่มีวุฒิภาวะ มีอำนาจเลือกกระหรือไม่กระทำสิ่งมดๆ ได้ด้วยตนเอง..แต่เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบยังขาดวุฒิภาวะ ไม่มีอำนาจในการคิดและกระทำการโดยอิสระ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของพ่อแม่ ครู และโรงเรียน..การเรียกร้องให้เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบ ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหากฎหมายและปัญหาสังคมอันชั่วร้ายที่เกิดจากการกระทำของคนที่มีวุฒิภาวะ มีอิสระในการคิดการกระทำ (free will)  เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ?? 

ประเด็นที่ห้า การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยแนวคิดและยุทธศาสตร์ "ต้องปลูกฝังจิตสำนึกไม่เป็นคนโกงตั้งแต่อนุบาล" เป็นการปลูกฝังเพาะบ่มความชั่วร้าย (evil mind) ของคำว่า "โกง" ให้แก่เด็กชั้นอนุบาลที่มีอายุระหว่าง 3-5 ขวบ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ ?? 

ประเด็นที่หก การสมคบร่วมมือกันระหว่างภาครัฐโดยฝ่ายออกนโยบาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ ในฐานะที่เป็น "ตัวการ" และ "ผู้จ้างวาน" ซึ่งมีแนวคิดในการควบคุม (control) สิ่งต่างๆ ในสังคมด้วยอำนาจรัฐด้วยงบประมาณรัฐ กระทำลงไปด้วยความไม่รู้..ด้วยความบกพร่องทางความรับผิดชอบ..อีกทั้งนักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มีความกลวงทางความคิดและสติปัญญา..ในฐานะ "ผู้สนับสนุน" เป็นผู้ที่นำความรู้ด้านวิจัยมาใช้ส่งเสริมการกระทำอันเป็นภยันตรายแก่เด็กอนุบาล..ตลอดจนบริษัทผลิตสื่อ บริษัทออแกไนซ์ โดยครีเอทีฟผู้ขลาดเขลาเบาปัญญา..นายทุนผู้โลภมากในการหาเงิน..# หน่วยงานและบุคคลเหล่านี้จะรับผิดชอบต่อผลร้ายที่เกิดขึ้นแก่เด็ก (harm to other)   ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร ?? 

ประเด็นที่เจ็ด การที่พวกคุณเอาปัญหาที่เด็กไม่ได้ก่อ ไปยัดเยียดใส่สมองเด็ก ไปยัดเยียดความรับผิดชอบความชั่วร้ายของสังคมพวกคุณให้แก่เด็กวัย 3 ขวบ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง มีคุณธรรมหรือไม่ ?? 

บทสรุป..หากพวกคุณไม่สามารถต่อสู้กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้..
หากพวกคุณหมดหนทางสู้..พวกคุณก็ควรยอมแพ้เสียแต่โดยดี..!!
แล้วพวกคุณทั้งหมดนั่นแหละ..ที่จะต้องช่วยกันร้องเพลงแห่งความชั่วร้ายที่เคยยัดเยียดใส่สมองเด็กแบบนี้เสียเอง..

ลา ลา ลา โตไปไม่โกง
ลา ลา ลา โตไปไม่โกง
ลา ลา ลา แก่ไปไม่โกง
ลา ลา ลา แก่ไปไม่โกง
ลา ลา ลา ตายไปไม่โกง
ลา ลา ลา ตายไปไม่โกง

พวกคุณทั้งหมดนี่แหละต้องรับผิดชอบเอง..มากกว่าที่จะมาบังคับให้เด็กอนุบาลอายุ 3 ขวบร้องเพลงแห่งความชั่วร้ายให้ซึมซับลงไปในจิตสำนึกที่สะอาดบริสุทธิ์ของเด็ก..

หากพวกคุณไม่ได้ช่วยพ่อแม่ คุณครู และและโรงเรียน ในการดูแลผ้าขาว..

คุณก็ไม่ควรเอาสีดำมาทาทับลงไปบนผ้าขาวที่บริสุทธิ์เหล่านี้เลย..!!

ผมขอกราบวิงวอนด้วยความเคารพ

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน 
23 เมษายน 2556

รถคันแรกกับเลขสวย

รถคันแรกกับเลขสวย..

กว่าจะเก็บเงินซื้อรถใหม่ป้ายแดงมาได้คันนึง..ต้องใช้ความมานะอุตสาหะเป็นอย่างมาก..เมื่อได้มายากจึงรัก หวงแหน ดูแลเอาใจใส่..นอกจากล้าง เช็ด ขัดสีให้แววาว ซื้ออุปกรณ์มาตกแต่งให้ดูโดดเด่นสวยงามตามสไตล์ที่ชอบแล้ว..เจ้าของรถยังพยายามแสวงหา "สิ่งพิเศษ" ให้กับรถคันนี้..

ด้วยการเสาะหาเลขทะเบียนที่ดูดี ดูแตกต่าง ดูมีราคา ดูเป็นคนสำคัญในสังคม..

แต่การที่จะเลือกเลขทะเบียนรถที่ถือกันว่า "เฮงๆ" เป็นมงคลนั้นช่างยากเย็นเสียจริง..นี่เราไม่ต้องพูดถึงเลขทะเบียนวีไอพีแบบ ตอง 9999 ตอง 8888 ตอง 5555 ตอง 3333 ที่ต้องจ่ายเงินประมาณล้านกว่าบาท หรือเลขคู่อย่างเลข xxyy 8899 9988 5599 9955 หรือเลข xyxy 8989 5959 หรือเลข xyyx 8998 9889 5995 9559..ที่ต้องจ่ายเงินประมูลไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท..

แต่เรากำลังพูดถึงเลขพื้นๆ ที่คนฐานะอย่างเราๆ พอจะหามาได้..การเลือกเลขนี่ยากที่สุด..เพราะมันมีอิทธิพลเกี่ยวกับความเชื่อมาเกี่ยวข้อง..และไม่ใช่ความเชื่อชุดมาตรฐานชุดเดียว แต่เป็นความเชื่อหลายชุดมีอิทธิพลร่วมกัน..ลองมาดูเลขทีละตัว

เลข 1 หากเอามาคู่กันเป็น 11 อย่างนี้คนจีนก็ถือกันว่าไม่ดีเพราะคล้ายก้านธูปในงานศพ..

เลข 2 ก็พอใช้ได้แต่ก็ถือกันว่าเป็นเลขไม่ค่อยมีกำลัง

เลข 3 ส่วนหนึ่งถือกันว่าเป็นเลขเกี่ยวกับเงิน แต่หากเอาเลข 1 มาจับคู่กับเลข 3 เป็น 13 หรือ 31 อย่างนี้ท่านก็ว่าเป็นเลขอัปมงคลห้ามใช้..เอาเลข 3 มาจับคู่กับเลข 2 ท่านก็ว่าไม่ส่งผลดี โลเล เหลาะแหละ #

เลข 4 เป็นเลขที่ดีในทัศนะของคนจีน แต่บางคนกลับว่าเลข 4 คนจีนออกเสียงเป็น "ซีี"ไม่ควรเอามาเป็นเลขรถยนต์ 

เลข 5 เป็นเลขยอดปรารถนาของฝรั่งอเมริกัน หากเอามาจับคู่กับและ 9 ก็จะดียิ่งขึ้น

เลข 6 คนไทยถือกันว่าเลข 6 เป็นเลขหกคะเมนตีลังกา เอามาใช้เป็นเลขรถ รถอาจตีลังกาได้

เลข 7 คนก็ว่าไม่ดีอีก เลข 7 คนจีนออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า "เจ็บ" หมายถึง บาดเจ็บ ไม่ควรเอามาใช้เป็นทะเบียนรถ

เลข 8 คนจีนถือว่าเลขนี้เป็นมงคลที่สุด และยังหมายถึงอินฟินิตี้ ความไม่มีที่สิ้นสุด..

เลข 9 เป็นสุดยอดเลขมงคลตามความเชื่อของคนไทย เอามาใช้เป็นเลขของอะไรก็เจริญรุ่งเรืองหมด..ตกลงว่าเลขที่เชื่อกันว่าดีมาก ได้แก่ 5 เลข 8 เลข 9 เลขที่ มวยเชิญขวัญและวัญทุกคนไทยไม่ชอบ

เลือกรถยังไม่พอ ต้องเลือกเลข เพราะเชื่อว่า "เลข" มีอิทธิพลต่อชีวิต..คิดแล้วก็เหนื่อย

งั้นจัดมาเลยก็แล้วกัน ไม่เลือกละ..เอาพวกเลขเบิ้ล 9 เลขตอง 9 เลขโฟว์ 9 ก็พอ

จะเอามาติดรถเกี่ยวข้าวสักคัน

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
23 เมษายน 2556

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

ความสำเร็จไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

ความสำเร็จไม่ได้มาเพราะโชคช่วย..

@ คุณพิษณุ นิลกลัด..นักพากย์กีฬาคนสำคัญคนหนึ่ง..เคยพูดวิจารณ์นักมวยระดับแชมป์คนหนึ่ง ซึ่ง "ชื่อเสียงและความสำเร็จของนักกีฬาคนนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะฝีมือความสามารถล้วนๆ อีกทั้งความมุ่งมั่น และความทุ่มเทอย่างเต็มที่ จึงมีวันนี้ได้"..

ผมถือว่านี่เป็น "วรรคทอง" ของคุณพิษณุ นิลกลัดเลยทีเดียว..ผมยังเห็นว่าเป็นข้อคิดที่มีค่ามาก..

คนเราจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยองค์ปะกอบสำคัญ 5 ประการได้แก่

(1) องค์ประกอบสำคัญอันดับแรกคือ ความรู้ ความสามารถของตนเอง ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความขยันขันแข็ง เอาการเอางาน ทุ่มเทกับสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่ มีความจริงใจกับสิ่งที่ทำ นี่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันดับหนึ่ง

(2) องค์ประกอบสำคัญอันดับสองคือ ความพร้อมด้านอื่นๆ ของเรา ที่สำคัญคือ สุขภาพ สภาพจิตใจ เวลา ทรัพย์สินเงินทอง เครื่องมือ สถานที่ เทคโนโลยี

(3) องค์ประกอบสำคัญอันดับสาม คือ การช่วยเหลือสนับสนุนของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้างบนคือ เจ้านาย ผู้บริหาร ข้างๆ คือ เพื่อนร่วมงาน ข้างล่าง คือ ลูกน้องและบริวาร

(4) องค์ประกอบสำคัญประการที่สี่คือ คอนเน็คชั่น (connection) ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึง การรู้จักคนใหญ่คนโตและการวิ่งเต้นเส้นสาย แต่ผมหมายถึงบุคคลที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราทำดีต่อเขาเขาทำดีต่อเรา ยามสุขร่วมเสพ ยามทุกข์ร่วมต้าน มีความสม่ำเสมอในการคบหา มีกความระลึกถึงน้ำใจ บุญคุณที่ต้องทดแทน

(5) องค์ประกอบสำคัญอันดับที่ห้า คือ โชคช่วย ผมถือว่ามีส่วนสำคัญเหมือนกัน บางคนประสบความสำเร็จเพราะโชคช่วย..แต่ในโลกนี้จะมีสักกี่คน?? ที่ประสบความสำเร็จเพราะโชคช่วย..ในทัศนะของผมคิดว่ามีเพียง 10% เท่านั้นที่ "ได้มาเพราะโชคช่วย" ส่วนใหญ่ต้องอาศัยฝีมือความสามารรถล้วนๆ @ ผมเห็นว่าข้อคิดของคุณพิษณุ นิลกลัด สามารถนำมาใช้กับการเรียนหนังสือทุกระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก สามารถนำมาใช้กับการทำงาน และการดำเนินชีวิตของเราทุกคน..ช่วงเวลาที่ผมประกอบวิชาชีพอาจารย์ ผมจะไม่อวยพรให้นักศึกษาโชคดีในการสอบ หรือขอให้ได้เกรดนั่นเกรดนี้ เพราะผมคิดว่านั่นเป็นการซ้ำเติมให้นักศึกษาไม่ลงมือต่อสู้ชีวิต แต่รอโชคช่วย และโชคก็ไม่เคยมาช่วย

ผมจึงเห็นว่า หากต้องการประสบความสำเร็จ อย่ารอความหวัง อย่ารอเวลา อย่าพึ่ง "โชคช่วย"..เพราะมันคงใช้เวลาทั้งชีวิตของคุณที่ต้องรอ..และคุณอาจจะไม่ได้พบเห็นความสำเร็จเลยตลอดชีวิตคุณ..เพราะโชคไม่สามารถมาช่วย..

โชคไม่มีเวลามาช่วยเราหรอก..เพราะ "โชค" ต้องเดินทางไปช่วยคนในโลกนี้อีกหลายล้านคนที่กำลังงอมืองอเท้ารอให้โชคช่วย

เราต้องเรียนรู้ (Learning) เราต้องพึ่งตนเอง (Self-reliance) เราต้องลงมือกระทำด้วยตนเอง (Doing) อย่างเต็มความสามารถ อย่างเต็มกำลัง อย่างทุ่มเททั้งหัวใจ (Heart)

แล้วโชคจะตามมาช่วยเราเอง..โชคจะมาบอกเราว่า..

คุณโชคดีที่คุณรู้ความจริง

คุณโชคดีที่คุณลงมือกระทำด้วยตัวคุณเอง

คุณโชคดีที่ไม่ได้รอให้ผม (โชค) ช่วย
.
ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่มีวันพบกับความสำเร็จ

และคุณจะไม่มีวันได้เจอผมหรอก

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
22 เมษายน 2556

วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

การสืบทอดวัฒนธรรมรดน้ำดำหัว : มองทะลุพิธีกรรมไปสู่ความหมายที่แท้จริง

มองทะลุพิธีกรรมไปสู่ความหมาย..พิธีกรรมหลายพิธีผู้ริเริ่มพิธีนั้นขึ้นมา ต่างมีความคิด มีเจตนา มีความมุ่งหมาย แอบแฝงไว้เสมอ..พิธีรดน้ำดำหัว บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ผู้สูงอายุ ครูอาจารย์ และผู้มีพระคุณ..ล้วนมีความหมายแฝง..หากเราใช้สายตามองผ่านๆ เราจะเห็นแค่ผู้คน น้ำ น้ำอบไทย ดอกไม้ การไหว้ รอยยิ้ม และคำพูดอวยพร..นั่นเป็นเพียงความหมายชั้นต้น (denotation meaning) เรารับรู้ ดีใจ ประทับใจ ชื่นชมยินดีแบบผิวเผิน..ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป ไร้รอยจารึกแห่งคุณค่า..หากเรามองด้วยความคิดแบบวิเคราะห์ มองภาษาแห่งพิธีกรรม เพื่อค้นหาความหมายทัี่แท้จริงของสิ่งที่เรากระทำ..เราจึงจะเข้าใจ..แต่นั่นต้องอาศัยการวิเคราะห์ทำความเข้าใจความหมายชั้นที่สอง (connotation meaning) ที่ต้องมองผ่านบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่ห่อหุ้มเราอยู่เราจึงจะเข้าใจจริงๆ..ขอให้มองไปที่ "น้ำ" ซึ่งมีฐานะเป็นวัตถุที่ให้ความหมาย (meaning-laden objects) ขอให้ "อ่าน" (read) ความหมายของน้ำ ทั้งความหมายชั้นต้นและความหมายชั้นที่สอง @ นัยนี้ พิธีรดน้ำดำหัว ได้อาศัย "น้ำ" เป็น "สัญญะ" (sign) ในระบบภาษาแห่งพิธีกรรมการรดน้ำดำหัว..# น้ำบริสุทธิ์ ที่เจือด้วย น้ำอบไทย แอบซ่อนความหมายไว้อย่างแนบเนียน..# น้ำคือ ธาตุหนึ่งในธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบกันเป็นธาตุแห่งมนุษย์ # น้ำ เป็นส่วนประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต  # น้ำเป็นบ่อเกิดของชีวิตทุกชีวิต # น้ำเป็นความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตมนุษย์ สัตว์ พืช..# น้ำใช้ชำระล้างสิ่งสกปรกในชีวิต # น้ำใช้ดับความร้อนทางกาย # น้ำใช้ดับความร้อนทางใจ..ดับไฟกิเลสของมนุษย์..# น้ำอบไทยที่ส่งกลิ่นหอมชื่นใจ หมายความถึงน้ำใจ หมายถึงสิ่งที่แสดงออกถึงความตั้งใจของผู้ประกอบพิธีที่จะมอบสิ่งพิเศษให้กับบุคคลที่ตนเคารพ..และหมายรวมถึงวัฒนธรรมของความเป็น "ไทย" # สัญญะของ น้ำ ในพิธีรดน้ำดำหัว น้ำจึงหมายถึง น้ำใสใจจริงของผู้ประกอบพิธีและผู้ร่วมพิธีที่ส่งมอบแด่ผู้มีพระคุณ ส่งมอบแด่ผู้อาวุโสมากกว่า เพื่อแทนคำขอขมา เพื่อชำระล้างความผิดบาปที่เคยล่วงเกินผู้มีพระคุณ และเพื่อชำระล้างจิตใจตนเองให้ผ่องใสขึ้น @  คนโบราณได้สร้างความหมายผ่านภาษาแห่งพิธีกรรมไว้ในพิธีรดน้ำดำหัว ให้ผู้คนให้ตระหนักในการเคารพ การระลึกถึงผู้มีพระคุณ การระลึกถึงผู้ให้ชีวิต การระลึกถึงผู้ขัดเกลาชีวิตให้ดีงาม และการชำระล้างจิตใจตนเองให้ใสสะอาด @ วันเวลาผันผ่าน กาลเวลาเปลี่ยนใจคน สังคมหล่อหลอม สิ่งแวดล้อมควบคุม เทคโนโลยีมีอิทธิพลเหนือจิตใจมนุษย์..เวลาเปลี่ยนใจคนเปลี่ยน ช่างกระไร ใจหนอใจคน สมดัง อสนี พลกุล ว่าไว้..@ แม้นวันเวลาผันผ่านนานสักเพียงใด "น้ำ" ยังคงความหมายของความเป็นน้ำเสมอมามิได้แปรเปลี่ยน..ใจคนต่างหากที่เปลี่ยนแปร..พิธีรดน้ำดำหัว เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน ผ่านรูปแบบภาษา (language) ผ่านกิจกรรมของมนุษย์ที่มีความหมาย (meaningful human activity) พิธีรดน้ำดำหัวในอดีตมีความหมายและมีคุณค่าต่อผู้คนจึงมีการสืบทอดวัฒนธรรมนี้ต่อกันมาในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม..@ พิธีรดน้ำดำหัวในปัจจุบัน จะคงความหมายและคุณค่าที่แท้จริงไว้เพียงใด ไม่อ่าจดูได้แค่เพียงรูปแบบภายนอก รูปแบบวัฒนธรรมที่เห็นได้จากภายนอกอาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย มีการประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ แต่จะต้องพิจารณาจากแก่นแท้อันเป็นหัวใจของการสืบทอดวัฒนธรรมรดน้ำดำหัว โดยพิจารณาถึงความหมายและคุณค่าที่แท้จริง..หากต้องการรู้ว่ามีการสืบทอดคุณค่าของพิธีรดน้ำดำหัวได้เพียงใด..ขอให้ดูจากผู้คนว่า..เข้าใจความหมายของสัญญะ ที่แอบแฝงอยู่ใน "น้ำ" ที่เรานำมาใช้รดน้ำดำหัว..มากน้อยเพียงใด. ##

รศ.ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
21 เมษายน 2556

วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

คิดตรงกับเราบ้าง..

คิดตรงกับเราบ้าง..@ คนสองฝ่ายคิดไม่ตรงกันสักที สังคมนี้จึงมีแต่ความขัดแย้ง..# ฝ่ายหนึ่งถืออำนาจรัฐ ควบคุม สั่งการทุกอย่าง เป็นฝ่ายตัดสินใจ กำหนดการแบ่งสรรปันผลประโยชน์..อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถูกกระทำจากอำนาจรัฐโดยไร้อำนาจต่อรองใดๆ..# ปัญหาอยู่ที่ความไม่เป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์..มีคนเพียงไม่กี่สิบคนที่ได้ผลประโยชน์ก้อนใหญ่ แบ่งเค้กกันตามใจชอบ..แต่ประชาชนส่วนใหญ่อีกหลายล้านคนไม่เคยได้รับส่วนแบ่ง..ต้องเจ็บช้ำน้ำใจ กล้ำกลืนฝืนทนมาโดยตลอด..ยามใดหมดความอดทนก็ส่งเสียงเอะอะโวยวายเอาบ้าง..แต่ก็ไร้ผล # แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่เสียงส่วนใหญ่ใช่ว่าจะเป็นฝ่ายชนะเสมอไป โดยเฉพาะการต่อสู้ในประเด็นนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า เสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายแพ้และเสียประโยชน์มาโดยตลอด..แต่ก็ต้องพยายามสู้กันต่อไป..# ที่ร้ายหนักคือสื่อมวลชนแทนที่จะสนใจทำข่าวติดตามสัมภาษณ์คนฝ่ายเสียงส่วนใหญ่ กลับไปให้ความสนใจสัมภาษณ์แต่ฝ่ายเสียงส่วนน้อยทุกครั้งไป..แถมยังแสดงอาการชื่นชมยินดีอย่างออกนอกหน้า จนเสียความเป็นกลางของสื่อ..# ย้อนมาพูดถึงอำนาจรัฐเข้าควบคุมกลไกทุกอย่าง..นับตั้งแต่การกำหนดกติกาในการแบ่งผลประโยชน์..การกุมอำนาจในการชี้ชะตาว่าใครควรจะได้ประโยชน์ก้อนใหญ่..ทำตัวดั่งเทพเจ้ากำหนดโชคชะตามนุษย์ว่าใครจะเจริญรุ่งเรือง ใครควรจะต่ำต้อยยากจนข้นแค้น..# รูปแบบในการตัดสินแทนที่จะใช้ระบบความยุติธรรมทางศาล กลับเอาเรื่องสำคัญของชาติไปขึ้นอยู่กับผู้หญิงไม่กี่คน..ที่จะใช้อำนาจตัดสินด้วยพิธีกรรมง่ายๆ โดยการหมุนวงล้อเสี่ยงทาย..# ดูไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย กับคนที่ทุ่มเทมาตลอด ด้วยความรักความจริงใจ..ในที่สุดเสียงส่วนน้อยเพียง 1 คนจาก 1 ล้านคน ก็ถูกเลือกให้เป็นฝ่ายได้เงิน 2 ล้านบาทไปหน้าตาเฉย..สร้างความเจ็บช้ำให้แก่คนอีก 1 ล้าน 9 แสน 9 หมื่น 9 พัน 9 ร้อย 9 สิบ 9 คน..ที่ถูกตัดสินให้เป็นฝ่ายแพ้..ปล่อยให้รอคอยความหวังลมๆ แล้งๆ จากโชคลำดับที่สอง สาม สี่ ห้า  และเศษเดนลูกสมุนอีกสามตัว สองตัว..รวมกันแล้วเพียงแค่ 14,168 ความโชคดี..ที่เป็นรางวัลปลอบใจ..# นี่หรือความเป็นธรรมที่ได้รับจากผู้กุมอำนาจรัฐ..ที่เราเลือกมากับมือ กลับมาทำร้ายพี่น้องเราที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ได้..# สื่อมวลชนเองก็เถอะ..เคยบ้างมั๊ยที่จะเห็นอกเห็นใจเสียงส่วนใหญ่ที่บริสุทธิ์ ที่เข้าร่วมแข่งขันตามกฏกติกามาตลอด..# เคยบ้างมั๊ยที่จะสนใจทำข่าวเสียงส่วนใหญ่ผู้พ่ายแพ้..ทั้งๆที่ความจริงแล้วนักข่าวจำนวนมาก ก็เป็นพวกเดียวกับเสียงส่วนใหญ่นี่แหละ..แทนที่จะช่วยกันปกป้องสิทธิ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเสียงส่วนใหญ่..กลับนิ่งดูดาย หวังพึ่งอะไรไม้ได้สักอย่าง..# มาถึงจุดนี้ก็คงขึ้นอยู่กับพวกเราที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าจะร่วมมือกันต่อสู้ต่อไปได้แค้ไหน..# ขอเพียงเราอย่าได้ท้อ ขอเพียงเราอย่าได้ถอย # จงมั่นคงในแนวทางที่เรายึดถือ วันนี้ไม่สำเร็จวันหน้าก็อาจสำเร็จ # ความพยายามเป็นสิ่งมีค่า สิ่งใดที่ได้มายากมักมีค่าเสมอ..ชัยชนะและความสำเร็จจะเป็นของผู้กล้า ผู้มานะบากบั่น และผู้มีความเพียร..# เราต้องพึ่งตัวเองให้มากขึ้น..# มาช่วยกันเสาะหาแหล่งข้อมูลข่าวสาร แหล่งวิชาความรู้ ที่มีอยู่ตามประสาภูมิปัญญาชาวบ้าน..ภูมิปัญญาทีี่มีอยู่ในวัดวาอาราม..ภูมิปัญญาด้านการเกษตรพันธ์พืชและวนศาสตร์..ภูมิปัญญาด้านยวดยานพาหนะของบุคคลาำคัญ..# โดยอาศัยภูมิปัญญาด้านคณิตศาสตร์..ที่จะช่วยคิดคำนวณได้อย่างถูกต้องแม่นยำ..@ เราหวังว่า..วันหนึ่ง..ฝ่ายกุมอำนาจรัฐที่ใช้อำนาจบริหารผ่านทางสุภาพสตรี 6 คนนั้น..จะคิดตรงกับเราบ้าง จะคิดตรงกับที่เราได้คาดคะเนไว้บ้าง..# เมื่อนั้นความเป็นธรรมก็จะบังเกิดขึ้น..ความขัดแย้งก็จะลดลง..อย่างน้อยฝ่ายเสียงส่วนใหญ่อีกคนหนึ่ง..จะได้เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยเงิน 2 ล้านบาทที่ได้มาตามระบบปกติ..# และหากโชคดีอาจได้รับเงินอีก 32 ล้านบาทในระบบโบนัสพิเศษ ที่จัดสรรมาให้คนยากไร้..เมื่อนั้นชีวิตของเขาก็จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล..@ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ..เรายังมีความฝัน..เรายังมีความหวัง..ขอเพียงฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐให้ความเป็นธรรม..คิดตรงกับเราบ้าง..สักครั้งหนึ่งในชีวิต..!!

วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

การสืบทอดทางวัฒนธรรม (cultural inheritance) ที่ประสบความสำเร็จ


การสืบทอดทางวัฒนธรรม  (cultural inheritance) ที่ประสบความสำเร็จ
ประเด็นหลักที่ผมต้องการพูดถึงในบทความนี้ คือ กระบวนการสืบทอดทางวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จ จะต้องมีความเป็นไปได้ในการสืบทอดและมีความสอดคล้องกับยุคสมัย จึงจะทำให้การสืบทอดทางวัฒนธรรมประสบความสำเร็จ

มุมมองต่อการสืบทอดทางวัฒนธรรม..ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า การสืบทอดทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงแค่เป็น การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งเท่านั้น แต่มันเป็นกระบวนของการเรียนรู้ (learning) กระบวนการพัฒนาโดยการเปลี่ยนแปลง (change) การปรับแต่ง (adaptation) การตีความหมายใหม่ (re-interpretation) การสร้างสรรค์ใหม่ (re-creation) การถ่ายทอด (transmit) การสืบทอด (inherit) ทางวัฒนธรรม เหตุเพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เกิดมาจากการเรียนรู้ของมนุษย์ และความพยายามของมนุษย์ที่จะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ให้อยู่รอด เมื่อต้องการอยู่รอดจึงต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องเข้ากันได้กับยุคสมัย วัฒนธรรมจึงมีความเป็นพลวัตร (dynamic) ยืดหยุ่นได้ มีความคงที่เพียงบางส่วน มีการเปลี่ยนแปลงได้ในบางส่วน

 มิติของการสืบทอดวัฒนธรรม..แบ่งการพิจารณาได้เป็นสามมิติ คือ มิติบุคคล (human) เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมจากบุคคลกลุ่มหนึ่งไปยังบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง มิติพื้นที่ (space) เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง และมิติเวลา (time) เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมจากห้วงเวลาหนึ่งไปยังอีกห้วงเวลาหนึ่ง โดยมีลักษณะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง

มุมมองของผู้สืบทอดทางวัฒนธรรม..หากมองในแง่มุมของการถ่ายทอด (transmit) ทางวัฒนธรรม จะเน้นการมองจากมุมมองของผู้ถ่ายทอดหรือผู้ส่งสาร หมายถึง การส่งผ่านรูปแบบและเนื้อหาของวัฒนธรรม (form and content of culture) จากผู้ถ่ายทอดหรือผู้ส่งสารไปยังผู้รับการถ่ายทอดหรือผู้รับสาร ในลักษณะที่ว่า ได้รับอะไรมาก็ส่งผ่านไปอย่างนั้น มีอย่างไรก็ส่งไปอย่างนั้น แต่หากมองในแง่มุมของการสืบทอด (inherit) ทางวัฒนธรรม จะเน้นการมองจากมุมมองของผู้รับการถ่ายทอดหรือผู้รับสารเป็นหลัก โดยผู้รับสารจะพยายามรักษาวัฒนธรรมนั้นไว้มิให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือต่อสู้ดิ้นรนให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยทีี่สุด ในลักษณะที่ว่าได้รับมาอย่างไรก็พยายามนำไปปฏิบัติอย่างนั้นให้มากที่สุด และได้รับมาอย่างไรก็พยามนำไปถ่ายทอดให้เหมือนต้นแบบมากที่สุด

ความหมายโดยสรุปของการสืบทอดทางวัฒนธรรม (cultural inheritance) เป็นกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนา (learning and development) ของมนุษย์เพื่อที่จะรักษาอัตลักษณ์ของแบบแผนของความคิด ความเชื่อ วิถีทาง และแนวปฏิบัติของตนเองไว้ โดยอาศัยกระบวนการในการสืบทอดทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นกระบวนการที่มีลักษณะเป็นการไหลเวียนอย่างต่อเนื่องกันไปอย่างไม่รู้จบ การสืบทอดทางวัฒนธรรมในที่นี้หมายถึงการสืบทอดในสิ่งที่ประกอบด้วยแนวคิด (concept) รูปแบบ (form) และเนื้อหา (content) และวิธีการ (method) ที่ใช้ในการสืบทอดวัฒนธรรม การสืบทอดทางวัฒนธรรมพิจารณาได้เป็น 3 มิติ คือ มิติบุคคล (human) เป็นการสืบทอดทางวัฒนธรรมจากบุคคลกลุ่มหนึ่งไปยังบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง มิติพื้นที่ (space) เป็นการสืบทอดทางวัฒนธรรมจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานอีกที่หนึ่ง มิติเวลา (time) เป็นการสืบทอดทางวัฒนธรรมจากห้วงเวลาหนึ่งไปยังอีกห้วงเวลาหนึ่ง

เมื่อเรานิยามวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ไม่ตายตัว แต่สามารถเปลี่ยนแปลง ปรับแต่งวัฒนธรรมให้เข้ากับยุคสมัยได้ การสืบทอดทางวัฒนธรรมจึงเป็นมากกว่า การรับไว้ (recieve) การรักษา (maintain) และการส่งผ่าน (transmit) วัฒนธรรม แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะรับ (recieve)  เรียนรู้ที่จะเลือก (select) เรียนรู้ที่จะใช้ (using) เรียนรู้ทีี่จะพัฒนา (develop) วัฒนธรรมให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของมนุษย์ภายใต้บริบททางสังคมของพื้นที่และเวลาแห่งยุคสมัยนั้น

ดนตรีไทย..เป็นวัฒนธรรมแขนงหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการสืบทอดวัฒนธรรม..การสืบทอดวัฒนธรรมดนตรีไทยในความหมายตามขนบเดิม คือ การการถ่ายทอดแนวคิด เป็นการเรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเพลงนั้น อันประกอบด้วย ถ่ายทอดแนวคิด เนื้อหา รูปแบบ และวิธีการของดนตรีไทย..แนวคิด หมายความถึง ความคิดและเจตนารมย์ของผู้ประพันธ์บทเพลงของเพลงนั้นว่าผู้ประพันธ์มีความคิดอย่างไรจึงได้แต่งเพลงนั้นออกมา และแต่งเพลงนั้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายใด สิ่งใดที่เป็นแรงบันดาลใจให้แต่งเพลง บริบททางสังคมช่วงนั้นเป็นอย่างไร..เนื้อหาของบทเพลงพูดถึงเรื่องอะไร ประเด็นอะไร..รูปแบบของบทเพลงเป็บแบบใด ใช้ทำนองดนตรีอย่างไร..วิธีการขับร้องและบรรเลงดนตรีควรใช้วิธีการแบบใด ใช้เครื่องดนตรีอะไร จำนวนกี่ชิ้น ผสมผสานกันอย่างไร บทเพลงนี้ควรใช้บรรเลงในวาระโอกาสใด หลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทเพลงนั้นแล้ว ผู้ถ่ายทอดบทเพลง เช่น ครูสอนดนตรีไทย โรงเรียน มหาวิทยาลัย ชุมชน จะนำบทเพลงนั้นไปใช้ในการถ่ายทอดด้วยรูปแบบและวิธีการ 4 วิธี ได้แก่ วิธีแรกคือ การสอนและการอบรม (teaching and training) เช่น การสอนตามหลักสูตร การสอนแก่ผู้สนใจ วิธีที่สองคือ การแสดง (performing) เช่น การบรรเลงดนตรีไทยในงานแต่งงาน งานบวช งานเทศกาลสงกรานต์ วิธีที่สามคือ การเผยแพร่ความรู้ (diffusion) เช่น การจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีไทย การจัดทำพิพิธภัณฑ์ การจัดทำเว็บไซต์ให้ความรู้เรื่องดนตรี วิธีที่สี่คือ การสร้างความรู้ (construction)การศึกษาวิจัย การอภิปรายถกเถียงทางสิชาการดนตร วิธีที่ห้าคือ การรักษาและเผยแพร่อุปกรณ์การเล่นดนตรี (instrument) เช่น การเปิดร้านจำหน่ายเครื่องดนตรี การจัดตั้งศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ดนตรี..

สำหรับรูปแแบบวิธีการถ่ายทอดดนตรีไทยด้วยการสอนและการอบรม จะมีลักษณะเป็นการสื่อสารแบบเส้นตรง (linear communication model) หมายถึง การส่งเนื้อหาสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารผ่านวิธีการสื่อสารด้วยบอก การแนะนำ การให้ลงมือปฏิบัติ ลักษณะสำคัญของการถ่ายทอดด้วยวิธีการนี้คือ การคงรักษาต้นแบบสาร (original message) ไว้ให้มากที่สุดทั้งเนื้อเพลงและดนตรี รูปแบบเพลงและดนตรี และวิธีการบรรเลงเพลงและดนตรี โดยพยายามให้เกิดการคงรูปแบบและเนื้อหาของสาร (message) ตามต้นฉบับเอาไว้ ผู้สอนในฐานะผู้ส่งสารจะสอนตามต้นฉบับ ผู้เรียนในฐานะผู้รับสารก็จะได้รับการถ่ายทอดสารตามต้นฉบับ และจะได้รับการปลูกฝังจากผู้สอนว่า หากจะนำวิชาดนตรีไทยไปใช้และนำไปถ่ายทอดก็ควรจะต้องรักษาความเป็นต้นฉบับไว้ให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน การถ่ายทอดดนตรีไทยในความหมายนี้จึงเป็นการสื่อสารเพื่อที่จะคงไว้หริอรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมดนตรีไทยเอาไว้ให้ได้มากที่สุด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดนั่นเอง

วิธีการสืบทอดดนตรีไทยตามแนวคิดการรักษาต้นฉบับดังกล่าวนี้ เป็นวิธีการสืบทอดที่เข้มแข็งสามารถรักษาวัฒนธรรมดนตรีไทยไว้ได้อย่างต่อเนื่องยาวนานนับร้อยปีจนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติไทย แต่เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความคิด วิถีชีวิต ความต้องการของคนในสังคม สภาพเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ทำมให้ผู้คนมีชีวิตที่แข่งขัน รีบเร่ง รวดเร็ว สะดวกสบายเป็นเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยม สังคมอาศัยปัจจัยการบริโภคเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การบริโภคนอกจ่กการบริโภปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว ยังขยายความไปถึงการบริโภคเพื่อสร้างความแตกต่าง สร้างความโดดเด่น สร้างภาพลักษณ์ สร้างการโอ้อวด การบริโภคเพื่อแก้ปัญหาความตึงเครียด ความเหงา ความอ้างว้่างโดดเดี่ยว การลดความทุกข์ใจจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการหารายได้ไม่พอรายจ่าย ปัญหาความแตกแยกความขัดแย้งในสังคม ปัญหาการจราจร ปัญหาสภาะโลกร้อน ปัญหาสารพิษ ปัญหาสุจภาพ ที่คนในสังคมต้องเผชิญอยู่ทุกวัน สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลและมีผลกระทบต่อความคิด ทัศนคติ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการปฏิบัติตนของคนในสังคม..ดนตรีไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในสังคม เปลี่ยนแปลงทั้งแนวคอด เนื้อหา รูปแบบและวิธีการ คนในสังคมบริโภคดนตรีไทยในฐานะผู้เล่นดนตรีไทย ในฐานะผู้ฟังดนตรีไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง สภาพเศรษฐกิจและสังคม และการแพร่ขยายของวัฒนธรรมดนตรีฝรั่ง ดนตรีญี่ปุ่น ดนตรีเกาหลี ที่คนในสังคมไทยรับเข้ามาในวิถีชีวิตทำให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการในการบริโภคดนตรี ทั้งเนื้อหา จังหวะ ทำนอง ที่เร็วกระชับ เน้นความสนถกสนานเป็นหลัก ประกอบกับมีการแสดงออกทางคำพูด ท่าเต้น การจัดแสง สี เสียง ที่เร้าความสนใจ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การตลาด เป็นสิ่งที่ครอบครองความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไปหลายส่วน

สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม มีผลทำให้ประชาขนเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ ค่านิยม วิถีการดำเนินชีวิต ประชาชนในฐานะผู้บริโภควัฒนธรรมดนตรี

ภายใต้แนวคิดการสืบทอดทางวัฒนธรรมข้างต้น ทีี่มองการสืบทอดเป็นการเรียนรู้และการพัฒนา การสืบทอดวัฒนธรรมดนตรีไทยจึงควรมีการเรียนรู้ที่จะประยุกต์ดนตรีไทยให้เข้ากับยุคสมัย คำว่าให้เข้ากบยุคสมัยหมายถึง การพิจารณาถึงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ค่านิยมของบุคคล ความต้องการของบุคคล ความตัองการของชุมชน ความต้องการของสังคม ในพื้นที่นั้น ในชุมชนนั้น ในห้วงเวลานั้น

กระบวนการสืบทอดทางวัฒนธรรม..การสืบทอดทางวัฒนธรรมทำได้โดยอาศัยการทำงานในลักษณะกระบวนการ ประกอบด้วยกระบวนการผลิต (production) ทางวัฒนธรรม กระบวนการเผยแพร่ (distribution) ทางวัฒนธรรม กระบวนการบริโภค (consumption) ทางวัฒนธรรม และกระบวนการผลิตซ้ำเพืี่อเผยแพร่ขยายผลสืบต่อ (reproduction) ทางวัฒนธรรม
 
รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
15 เมษายน 2556
เวลา 3.33 น.