วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

การสืบทอดวัฒนธรรมรดน้ำดำหัว : มองทะลุพิธีกรรมไปสู่ความหมายที่แท้จริง

มองทะลุพิธีกรรมไปสู่ความหมาย..พิธีกรรมหลายพิธีผู้ริเริ่มพิธีนั้นขึ้นมา ต่างมีความคิด มีเจตนา มีความมุ่งหมาย แอบแฝงไว้เสมอ..พิธีรดน้ำดำหัว บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ผู้สูงอายุ ครูอาจารย์ และผู้มีพระคุณ..ล้วนมีความหมายแฝง..หากเราใช้สายตามองผ่านๆ เราจะเห็นแค่ผู้คน น้ำ น้ำอบไทย ดอกไม้ การไหว้ รอยยิ้ม และคำพูดอวยพร..นั่นเป็นเพียงความหมายชั้นต้น (denotation meaning) เรารับรู้ ดีใจ ประทับใจ ชื่นชมยินดีแบบผิวเผิน..ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป ไร้รอยจารึกแห่งคุณค่า..หากเรามองด้วยความคิดแบบวิเคราะห์ มองภาษาแห่งพิธีกรรม เพื่อค้นหาความหมายทัี่แท้จริงของสิ่งที่เรากระทำ..เราจึงจะเข้าใจ..แต่นั่นต้องอาศัยการวิเคราะห์ทำความเข้าใจความหมายชั้นที่สอง (connotation meaning) ที่ต้องมองผ่านบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่ห่อหุ้มเราอยู่เราจึงจะเข้าใจจริงๆ..ขอให้มองไปที่ "น้ำ" ซึ่งมีฐานะเป็นวัตถุที่ให้ความหมาย (meaning-laden objects) ขอให้ "อ่าน" (read) ความหมายของน้ำ ทั้งความหมายชั้นต้นและความหมายชั้นที่สอง @ นัยนี้ พิธีรดน้ำดำหัว ได้อาศัย "น้ำ" เป็น "สัญญะ" (sign) ในระบบภาษาแห่งพิธีกรรมการรดน้ำดำหัว..# น้ำบริสุทธิ์ ที่เจือด้วย น้ำอบไทย แอบซ่อนความหมายไว้อย่างแนบเนียน..# น้ำคือ ธาตุหนึ่งในธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบกันเป็นธาตุแห่งมนุษย์ # น้ำ เป็นส่วนประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต  # น้ำเป็นบ่อเกิดของชีวิตทุกชีวิต # น้ำเป็นความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตมนุษย์ สัตว์ พืช..# น้ำใช้ชำระล้างสิ่งสกปรกในชีวิต # น้ำใช้ดับความร้อนทางกาย # น้ำใช้ดับความร้อนทางใจ..ดับไฟกิเลสของมนุษย์..# น้ำอบไทยที่ส่งกลิ่นหอมชื่นใจ หมายความถึงน้ำใจ หมายถึงสิ่งที่แสดงออกถึงความตั้งใจของผู้ประกอบพิธีที่จะมอบสิ่งพิเศษให้กับบุคคลที่ตนเคารพ..และหมายรวมถึงวัฒนธรรมของความเป็น "ไทย" # สัญญะของ น้ำ ในพิธีรดน้ำดำหัว น้ำจึงหมายถึง น้ำใสใจจริงของผู้ประกอบพิธีและผู้ร่วมพิธีที่ส่งมอบแด่ผู้มีพระคุณ ส่งมอบแด่ผู้อาวุโสมากกว่า เพื่อแทนคำขอขมา เพื่อชำระล้างความผิดบาปที่เคยล่วงเกินผู้มีพระคุณ และเพื่อชำระล้างจิตใจตนเองให้ผ่องใสขึ้น @  คนโบราณได้สร้างความหมายผ่านภาษาแห่งพิธีกรรมไว้ในพิธีรดน้ำดำหัว ให้ผู้คนให้ตระหนักในการเคารพ การระลึกถึงผู้มีพระคุณ การระลึกถึงผู้ให้ชีวิต การระลึกถึงผู้ขัดเกลาชีวิตให้ดีงาม และการชำระล้างจิตใจตนเองให้ใสสะอาด @ วันเวลาผันผ่าน กาลเวลาเปลี่ยนใจคน สังคมหล่อหลอม สิ่งแวดล้อมควบคุม เทคโนโลยีมีอิทธิพลเหนือจิตใจมนุษย์..เวลาเปลี่ยนใจคนเปลี่ยน ช่างกระไร ใจหนอใจคน สมดัง อสนี พลกุล ว่าไว้..@ แม้นวันเวลาผันผ่านนานสักเพียงใด "น้ำ" ยังคงความหมายของความเป็นน้ำเสมอมามิได้แปรเปลี่ยน..ใจคนต่างหากที่เปลี่ยนแปร..พิธีรดน้ำดำหัว เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน ผ่านรูปแบบภาษา (language) ผ่านกิจกรรมของมนุษย์ที่มีความหมาย (meaningful human activity) พิธีรดน้ำดำหัวในอดีตมีความหมายและมีคุณค่าต่อผู้คนจึงมีการสืบทอดวัฒนธรรมนี้ต่อกันมาในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม..@ พิธีรดน้ำดำหัวในปัจจุบัน จะคงความหมายและคุณค่าที่แท้จริงไว้เพียงใด ไม่อ่าจดูได้แค่เพียงรูปแบบภายนอก รูปแบบวัฒนธรรมที่เห็นได้จากภายนอกอาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย มีการประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ แต่จะต้องพิจารณาจากแก่นแท้อันเป็นหัวใจของการสืบทอดวัฒนธรรมรดน้ำดำหัว โดยพิจารณาถึงความหมายและคุณค่าที่แท้จริง..หากต้องการรู้ว่ามีการสืบทอดคุณค่าของพิธีรดน้ำดำหัวได้เพียงใด..ขอให้ดูจากผู้คนว่า..เข้าใจความหมายของสัญญะ ที่แอบแฝงอยู่ใน "น้ำ" ที่เรานำมาใช้รดน้ำดำหัว..มากน้อยเพียงใด. ##

รศ.ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
21 เมษายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น