วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สิบปีที่รอคอย..ประสบการณ์ที่ผันผ่าน กับกาลเวลาที่แสนเศร้า

สิบปีที่รอคอย..ประสบการณ์ที่ผันผ่าน กับกาลเวลาที่แสนเศร้า
หนูมีหลายกล่องเลยค่ะ..บนโต๊ะทำงาน ข้างโต๊ะทำงาน ใต้โต๊ะทำงาน บนหลังตู้เก็บของ มี "กล่อง" กระดาษทั้งกล่องของขวัญ ลังแม่โขง ลังหงส์ทอง ลังเบียร์ กล่องกระดาษเอสี่..ทุกลังทุกกล่องผูกรัดด้วยเชือกฟางอย่างแน่นหนา..ด้วยความสงสัยจึงถามเธอว่า..# เก็บสะสมอะไรไว้นักหนาเต็มห้องไปหมด ทำไม่ไม่คัดไปทิ้งเสียบ้างล่ะภา ? # ของมีค่าทั้งนั้น หนูทิ้งไม่ลงหรอกค่ะ เคยเปิดมาดูพอจะทิ้วก็ทำใจไม่ได้ ทิ้งไม่ลงจริงๆค่ะ อาจารย์ณัฐฐ์..#แต่มันผิดหลัก 5ส ที่เราไปอบรมมานะ..ผมแย้ง # หนูขอละอาจารย์ ขอเพิ่มอีก ส. นึงละกัน # ส.อะไร ?# ส.สะสม สะสมของมีคุณค่าค่ะอาจารย์ # ตามใจ แต่ผมสงสัยจริงๆว่าภาใส่อะไรทึ่ว่ามีคุณค่าไว้ในนั้นตั้งหลายกล่อง?#

ทุกกล่องมีของเหมือนๆ กันอยู่ 3 อย่างค่ะอาจารย์#อ้าวถ้างั้นทำไม่ไม่คัดเลือกที่มันเหมือนๆ กันไว้เป็นตัวแทนอย่างละชิ้นล่ะ?# มันเหมือนกันก็จริง แต่ทุกชิ้นมีค่ามากสำหรับหนู หนูไม่ทิ้งมันหรอกค่ะ..!!#ทิ้งมั่งเหอะภา ตัดใจบ้าง มันรกห้อง..ผมหยิบมากล่องนึง ทำท่าจะโยนออกไปนอกห้อง..#

ภาวิ่งเข้ามาคว้าลังแม่โขงในมือผม แล้วกอดไว้แน่น พร้อมกับคร่ำครวญ..อาจารย์อย่าทิ้ง หนูขอร้องค่ะ..พลางน้ำตาไหลอาบแก้ม สะอึกสะอื้น # ผมใจอ่อนลงทันที..เอาละๆๆ ไม่ทิ้งก็ได้ แต่ขอเปิดดูหน่อยว่ามันมีอะไรอยู่ในกล่องพวกนี้ ถึงได้หวงนักหวงหนา..แกะให้ดูหน่อยภา#

ภาค่อยๆ แกะเชือกฟางสีแดงออก ฝาลังแม่โขงคร่ำคร่าเกือบขาดวิ่น ข้างกล่องเขียนด้วยปากกาเคมีสีน้ำเงินว่า..15 ธันวาคม 2547..ภาเล่าไปพลาง..อาจารย์ณัฐฐ์รู้มั๊ย เวลาหนูเหนื่อยมากๆ ท้อใจมากๆ หนูจะล็อกประตู เปิดดูของในกล่องนี้ ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า แล้วหนูจะมีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาทุกครั้งเลย..# ฝากล่องเปิดออก ในนั้นมีแต่กระดาษโน้ต การ์ดอวยพร ซองจดหมาย ทุกอย่างซีดจางเพราะเก่าเก็บ..ภาหวงมั๊ยผมขออ่านดูสักแผ่นนึง?# อ่านเถอะค่ะอาจารย์#
ผมสุ่มหยิบกระดาษจดหมายน้อย ขึ้นมาแผ่นนึงอ่านข้อความ.."ขอบคุณมากนะภา..พี่ไม่รู้จะตอบแทนภาอย่างไรดีถึงจะสมกับความดี ความมีน้ำใจของภา..ที่พี่จบปริญญาโทนิเทศศาสตร์ มสธ. มาได้ ก็เพราะความช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานของภาทุกอย่าง ทั้งเตือนให้แต่ลงทะเบียน ตามมาเข้าสัมมนา ตรวจเล่มจัดหน้าจัดรูปแบบวิทยานิพนธ์ นัดสอบปกป้อง แก้ไข จนเสร็จ แม้กระทั่งโทร.ตามให้พี่มาซ้อมรับปริญญา พี่ทำงานชายแดนใต้ ไม่มีเวลาว่างตรงกับเพื่อน หากไม่ได้ภาพี่คงไม่จบโท..ขอบคุณเป็นที่สุดนะภา คนดีของทุกคน..ลงชื่อ พี่เอก" ..ผมอ่านด้วยความประทับใจทั้งต่อนักศึกษาและต่อภา..#

ผมลองสุ่มหยิบกระดาษโน้ตเล็กๆสีเหลืองขึ้นมาอีกแผ่นนึง..ภา นี่มันลายมือภาเองนี่..ผมท้วง# ใช่ค่ะลายมือหนูเอง พี่เค้าโทรศัพท์มา หนูจดไว้ค่ะ# ผมเริ่มอ่าน..ภาคะ พี่คิดถึงภาค่ะ พี่ขอบคุณภามากนะคะ ที่เป็นธุระทุกอย่างให้พี่ พี่มีวันนี้ได้เพราะภาช่วยประสานงานให้ทุกอย่าง พี่ไม่รู้จะตอบแทนภาอย่างไรดี ขอให้พระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองป้องกันภา ขอให้ภามีความเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จในชีวิตตลอดไปนะคะ..พี่อ้อ #

ผมอ่านถึงตอนนี้ ภานั่งร่ำไห้สะอึกสะอื้น น้ำตานองหน้า..ร้องไห้ทำไมภา? ..หนูซาบซึ้งใจใจค่ะอาจารย์ณัฐฐ์..สิบปีแล้วค่ะที่หนูสะสม..คำขอบคุณ..คำยกย่องชื่นชม..คำอวยพร..เหล่านี้ไว้มากมายอย่างที่อาจารย์เห็นนี่แหละค่ะ..# ป่านนี้พี่ๆเค้าคงสุขสบายกันไปหมดแล้วละ พี่บางคนได้เลื่อนเป็นผู้จัดการฝ่าย บางคนได้เงินเดือนเพิ่มเป็น 8 หมื่น พี่บางคนกำลังจะได้เป็นนายพล..ส่วนหนูๆๆๆ ภาสะอื้น #

ส่วนหนูเป็นยังไงภา? # หนูก็ยังเป็นลูกจ้างประจำวุฒิปริญญาตรีกินเงินเดือนไม่ถึงสองหมื่นแหละค่ะ..# แต่หนูได้อย่างอื่นที่มีค่ามากกว่าค่ะ #อะไรเหรอภาที่ว่ามีค่าๆ # หนูได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ดีๆ จากพี่ๆ เกือบพันคน แล้วก็ได้สัมผัสประสบการณ์ทีีไม่ดีจากพี่ๆ หลายสิบคน..แต่หนูเลือกจดจำเฉพาะสิ่งที่ดีๆ เท่านั้นค่ะ..

คำขอบคุณที่หนูจดใส่กระดาษไว้เป็นลัง หากหนูเอาไปชั่งกิโลขายคงได้เงินไม่กี่ร้อยบาท..แต่หนูเก็บไว้เป็นสิ่งเตือนใจตัวเอง ให้ทำความดี เป็นกำลังใจ ไม่ให้ท้อค่ะ..#อาจารย์รูแล้วใช่มั๊ยคะว่าของ 3 อย่างที่หนูเก็บไว้คืออะไร?#

ผมอ่านใจภา..# หนึ่ง ประสบการณ์ที่ดีที่ได้เรียนรู้จากการสัมผัสผู้คนนับพัน สอง คุณค่าแห่งความดีงามที่ภาได้ทำไปทั้งหมดเป็นกำลังใจมห้ตัวเอง และ สาม การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ คือการเรียนปริญญาโท

ใช่แล้วค่ะอาจารย์ณัฐฐ์..หนูทำไปเหนื่อยแค่ไหนก็ไม่เป็นไร หนูภูมิใจที่ได้ทำค่ะ..ขอเพียงอย่างเดียวคือ..ขอให้พี่ๆ เรียนให้ได้ความรู้กันมากๆ เรียนกันให้จริงจัง เรียนกันให้เต็มที่..เพราะหนูๆๆ# อะไรเหรอภา# หนูเองก็อยากเรียนโทตั้งแต่ปี 2550 แล้ว แต่หนูไม่มีโอกาสเรียน..ตอนนี้ก็รุ่น 10 แล้ว..!!

หนูมีความสุขมากที่เห็นพี่ๆ เค้าตั้งใจเรียนกัน..มันชดเชยความรู้สึกในจิตใต้สำนึกของหนู..เหมือนกับทฤษฎีอะไรนะ..อือม์ ทฤษฎีการสื่อสารเพื่อทดแทน (Displacement) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารเพื่อการชดเชย (Sublimation) ในสิ่งที่หนูไม่มีีโอกาสได้ทำค่ะ..#

ฟังภาเล่ามาถึงตอนนี้..น้ำตาของผมซึมออกมาโดยไม่รู้ตัว..

ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
21 มิถุนายน 2556

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมื่อครูบาอาจารย์ลุกขึ้นมาทำ SWOT ตัวเอง

การวิเคราะห์ SWOT ตนเองของครูบาอาจารย์ในปี พ.ศ. 2556
TEACHER SELF SWOT 2013

เมื่อครูบาอาจารย์ลุกขึ้นมาทำการ SWOT ตัวเอง ในปี ค.ศ. 2013
ปรากฏผลการวิเคราะห์ดังนี้

จุดแข็งของครู (Strength) :    รอบรู้ แสวงหาความรู้มาสอนคนอื่นได้แทบทุกเรื่อง

จุดอ่อนของครู (Weakness) : ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเอง ลืมสอนตัวเอง คิดว่าตัวเองรู้หมดทุกเรื่อง
โอกาสของครู (Opportunity) : มีผู้คนสมัครใจเข้ามาให้สอนเรื่อยๆ พร้อมที่จะเชื่อฟังอยู่เสมอ เพราะ
                                               ตำแหน่งทางวิชาการ ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง เกียรติคุณ อำนาจ บารมี
                                               ยินยอมที่จะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของครูอาจารย์
                                               เพราะมีอำนาจเหนือกว่าในการให้เกรด A B C D E F แก่นักเรียน นิสิต
                                               นักศึกษา และผู้เรียน อันยากที่จะโต้แย้งได้สำเร็จ
ภัยคุกคามของครู (Threat) :   คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ดาวเทียม ระบบเซลลูล่าร์ 3G 4G 5G etc.
                                              สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต iPhone iPAD โซเชียลมีเดีย YouTube เว็บไซต์
                                              ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self learning)
                                               ความขยันหมั่นเพียร และความใฝ่เรียนใฝ่รู้
                                               ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้เรียนสมัยใหม่ ซึ่งเป็น
                                               ผู้เรียนที่ชาญฉลาด (Smart Student / Smart Learner)

         ขอเปิดเผยความรู้สึกในระหว่างที่ทำการวิเคราะห์ว่า ผู้ทำ SWOT เองวิเคราะห์ไป พร้อมๆ กับ
ความหวั่นไหว หวาดกลัว และวิตกกังวลเป็นอย่างมาก

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
20 มิถุนายน 2556

เราจะค้นหา..คนที่อยากเรียนปริญญาโทอย่างแท้จริงได้อย่างไร ??

ทำไมจึงเรียนปริญญาโท..

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า การคัดเลือกบุคคลมาเรียนปริญญาโท ควรมีการสอบสัมภาษณ์ เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกว่า..

1. ทำไมจึงมาเรียนปริญญาโท ? (ทั้งๆที่สำเร็จขั้นพื้นฐานระดับ ป.ตรี มาแล้ว)
2. จะเรียนไปเพื่ออะไร คิดว่าจะได้อะไรจากการเรียนปริญญาโท ?
3. เรียนปริญญาโทนิเทศศาสตร์ ด้วยเหตุผลอะไร คิดว่าวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสารจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ตนเอง ครอบครัว การทำงาน ชุมชน สังคม ได้อย่างไร (คำตอบแบบจริงๆ ไม่ fake เพียงเพื่อให้สอบได้)
4. ถ้าผู้สมัครเรียนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสาร "ขนาดนั้น" "ผู้สมัครเรียนจะทำอะไรเป็นพิเศษ" นอกเหนือจากการเรียนการเข้าสัมมนาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด นอกเหนือจากการทำรายงานส่ง นอกเหนือจากการพรีเซ้นท์ ที่ส่วนมากทำกันแบบ "วรรณกรรมเร่งด่วน"  และ "อุตสาหกรรมเหมาโหล"
5. ข้อสุดท้าย..ขอถามเพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า คุณจะทำตามที่คุณพูดถึงไว้ ใน ข้อ 1 ถึง ข้อ 4 อย่างจริงจังแค่ไหน ??

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
20 มิถุนายน 2556

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโทรทัศน์ไทยในช่วงเย็น..กับประเด็นการลดราคารับจำนำข้าว

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโทรทัศน์ไทยในช่วงเย็น..กับประเด็นการลดราคารับจำนำข้าว
............................................................................................................................................
มองผังรายการที่เสนอทางสือโทรทัศน์กระแสหลักที่มี coverage สูง มี impact สูง และมี influence สูง ในช่วงเย็น..โดยเฉพาะเมื่อวานนี้วันที่ 19 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลประกาศราคารับจำนำข้าว 12,000 บาทต่อตัน
.......................................................................................................................................
ช่วงเวลา 18.00-18.45 น. ช่วงเวลาที่ชาวนาและเกษตรกรไทย กำลังล้อมวงกินข้าวเย็น
ช่อง 3 ละคร
ช่อง 5 Hard Core ข่าว และ ข่าวภาคค่ำ
ช่อง 7 ละคร เรื่องใหม่ "โทน"
ช่อง Thai PBS โลกวิทยาการ
.........................................................................................................................................
ขณะที่ชาวนาทั่วประเทศกำลังหวาดหวั่น เครียด (tension) วิตกกังวล (anxiety)
.........................................................................................................................................
สิ่งที่ชาวนาต้องการในขณะนั้น ควรจะเป็น information ที่ให้ความเข้าใจ
1. เสนอสาเหตุของปัญหา ว่าทำไม รัฐบาลจึงปรับราคารับจำนำข้าวลดลงมา เหตุผลเพราะอะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร (explaination)
2. เสนอความคิด ทางออกของปัญหา และแนวทางแก้ไข สำหรับชาวนา (Solution & Problem solving)
3. เสนอเนื้อหาการให้กำลังใจ บรรเทาทุกข์ทางจิตใจของชาวนา (Cathasis)
............................................................................................................................................
พิจารณาการทำหน้าที่ทางการสื่อสาร (Media function) ของสื่อโทรทัศน์

..ช่อง 3 และ ช่อง 7 เลือกทำหน้าที่เฉพาะข้อ 3 เพื่อให้สนุกๆๆ ลืมๆๆ ปัญหาแบบชั่วครั้งชั่วคราว กินข้าวเย็นแล้วมานั่งทุกข์กันต่อไป ว่าจะขาดทุนเท่าไหร่ จะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้

..ช่อง 5 เลือกทำหน้าที่ข้อ 1  และ ข้อ 2 สัมภาษณ์นายกสมาคมชาวนาไทย และนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และเกาะติดประเด็นข่าวรับจำนำข้าวต่อในข่าวภาคค่ำ..ชาวนากินข้าวไป ดูข่าวไปได้รู้ข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตนเองและครอบครัว เพื่อหาหนทางต่อสู้ชีวิต

..ช่อง ThaiPBS เลือกทำหน้าที่แบบฉีกแนวให้ความรู้วิทยาการและวิทยาศาสตร์แก่คนชั้นกลาง

(ขออภัยที่ไม่ได้ดูช่อง 9 และ ช่อง 11 เพราะถือหลักเกณฑ์ในการเลือกรับชมตาม coverage และ impact)

ในชั้นยังไม่ได้วิเคราะห์แต่อย่างใด เพียงแค่นำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมมาพิจารณาเท่านั้น..แต่ก็พอจะมองเห็นความคิด นโยบาย และแนวทางการดำเนินงานของแต่ละสถานีได้พอสมควร

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
20 มิถุนายน 2556

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความหมาย..การพันธนาการตนเองของมนุษย์

ความหมาย..
มนุษย์สร้างความหมายขึ้นมามากมาย 
เพื่อแสดงออกถึง ความเป็นอิสระและเสรีภาพของมนุษย์
แล้วก็นำตนเองเข้าไปผูกตรึงจองจำอยู่กับความหมาย
ที่ตนเองสร้างขึ้นมาอย่างดิ้นไม่หลุด..

                    ภาพลักษณ์ พิธีกรรม ความเชื่อ กรอบความคิด ค่านิยม การแสดงความรัก
แฟชั่น อาหารการกิน รวมทั้ง การโอ้อวดตนเองผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย 
นี่แหละคือ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของความหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นมา 
และกำลังถูกพันธนาการมนุษย์ไว้อย่างแน่นหนา
โดยกับดักที่ตนเองสร้างขึ้นมาเองกับมือ..
                    (อ้างอิงถึงแนวคิดของ เวเบอร์)

ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
19 มิถุนายน 2556

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ต้นน้ำ..แหล่งความรู้ทีีี่แท้ ที่หาได้ยากยิ่งในยุคสมัยสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร

ต้นน้ำ..ธรรมชาติของต้นน้ำที่แท้จริงจะมีที่มาจาก "ธรรมชาติ" ซึ่งได้สร้างองค์ประกอบและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสม จนกระทั่งก่อกำเนิดเป็นต้นน้ำ น้ำที่เริ่มออกเดินทางจากแหล่งที่เป็นต้นน้ำ ยังเป็นน้ำบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ปราศจากจากสารพิษและมลภาวะ

จนกระทั่งน้ำเดินทางผ่านกาลเวลาและเดินทางผ่านสถานที่อันมีหมู่มนุษย์อาศัยอยู่..น้ำที่เดินทางมาด้วยความบริสุทธิ์ ได้สัมผัสกับน้ำมือมนุษย์ ที่ได้ใช้บริโภค กิน อยู่ พักอาศัย ชำระล้างสิ่งสกปรก รวมทั้งนำไปเป็นส่วนผสมในกระบวนการผลิตสิ่งประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาบนโลก เพื่อให้มนุษย์บริโภคและใช้สอยกันต่อไปอีก..น้ำที่เคยใสสะอาดและบริสุทธิ์ จึงเริ่มขุ่นมัวทีละน้อยๆๆๆ จนกลายเป็นน้ำที่ไม่สะอาด ไม่สะอาดเพียงพอที่แม้จะดื่มกิน บางแห่งไม่สะอาดเพียงพอแม้จะใช้ชำระล้างร่างกาย มนุษย์ยังต้องนำน้ำนั้นไป กรอง กลัาน ต้ม ผ่านความร้อน เพื่อขจัดสิ่งสกปรก สิ่งเจือปน และบรรดาเชื้อโรคทั้งมวลที่ปะปนอยู่ในน้ำ ก่อนที่จะนำน้ำมาบริโภคดื่มกินและใช้สอย

แม้กระทั่ง "ต้นน้ำ" เองที่เคยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ที่อยู่ไกลโพ้น ไกลทั้งพื้นที่ (space) ไกลทั้งเวลา (time) ยังถูกมนุษย์ตามไปรุกราน รังควาน ทำลายล้าง ด้วยรูปแบบวอธีการต่างๆ ทั้งการ "ถากถาง" ไถทำลาย ฆ่าฟัน ชีวิตที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งการบุกรุกไปถึงถิ่นด้วยตนเอง ทั้งการ "พ่นมลภาวะอันเป็นพิษ" ล่องลอยไปในอากาศไปไกลถึง "ต้นน้ำ" ทั้งการลักขโมย ดัดแปลง แอบอ้างความเป็นเจ้าของ นำมาใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปผสมสารพิษก่อนนำไปให้ผู้อื่นดื่มกิน นำไปผลิตสิ่งประดิษฐ์อย่างอื่นขึ้นมาทำลายร่างกาย จิตใจ และสมองผู้อื่น ทั้งกระทำโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความโง่เขลาเบาปัญญา

ชาวจีนโบราณดั้นด้นไกลหลายพันลี้ เพื่อที่จะเสาะหาต้นน้ำ เพื่อนำมาปรุงยา เพื่อนำมารักษาชีวิต เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิต..คนโบราณเสาะหาทรัพยากรธรรมชาติอย่างเช่นต้นน้ำที่ถือว่าเป็น "ต้นแหล่ง" (primary resources) ด้วยเชื่อกันว่า นั่นคือ ความบริสุทธิ์ นั่นคือความจริง นั่นคือธรรมชาติ และเชื่อว่าที่ "กลางน้ำ) น้ำมักไม่ใส ไม่สะอาดเพียงพอ เนื่องจากผ่านการย้ำยีโดยมนุษย์ และที่ "ปลายน้ำ" ยิ่งเชื่อกันว่า น้ำบริเวณนั้น ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์เพียงพอที่จะดื่มกืน ไม่บริสุทธิ์เพียงพอที่แม้แต่จะ "เชื่อ" ว่าสะอาดจริง

"ความรู้" (knowledge) ก็ไม่จากจาก "น้ำ" ที่มีทั้งน้ำที่ได้มาจากแหล่งน้ำที่เป็น "ต้นน้ำ" ! "กลางน้ำ" !! และ "ปลายน้ำ" !!!

ความรู้ที่มีอยู่ในตำรับตำราโบราณสมัยเมื่อร้อยปีพันปีจึงมีค่ายิ่งนัก ความรู้ที่ได้จากการค้นพบ การสังเกต การตรวจสอบ การพิสูจน์ การทดลอง การยืนยัน ที่เขียนบันทึกไว้ พิมพ์ไว้ ตั้งอต่ในอดีตเมื่อร้อยปีจึงมีคุณค่า ได้รับความเชื่อถือ ถูกนำไปใช้สอน ถ่ายทอด ประยุกต์ และพัฒนาต่อ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ

ต่างกับ "ความรู้" (knowledge) ในสมัยนี้ ที่มีค่าเป็นเพียง "ข้อมูลข่าวสาร" (information) ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยน ซื้อ ขาย รื้อใหม่ ผลิตซ้ำ ผลิตใหม่ โดยอาศัย "หัวเชื้อ" จากต้นน้ำเพียงน้อยนิด ก็สามารถนำมาดัดแปลง นำมาผลิตซ้ำ (reproduction) กันอย่างง่ายดาย แพร่หลาย รวดเร็ว ทั่วโลก โดยหาจำต้องใส่ใจว่าความรู้นั้น จะถูกต้อง เที่ยงตรง แม่นยำ เชื่อถือได้ เป็นคุณประโยชน์ เป็นโทษ เป็นพิษ เป็นภัย ต่อระบบร่างกาย สมอง และความคิดของมนุษย์หรือไม่..!!

ขอเพียงได้ชื่อว่าตนเองได้ทำการสื่อสาร ได้เป็นผู้ผลิต (produce) ได้เป็นผู้เผยแพร่ (distribute) ได้เป็นผู้ผลิตซ้ำ (reproduce) ได้ทำ (make) ได้ทำซ้ำใหม่ (remake) ให้เป็นที่รับรู้ ให้เป็นที่ยอมรับ ให้เป็นหน้าตา ชื่อเสียง ได้สร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตน..ก็เป็นพอ

โดยหาจำต้องสนใจมุ่งมั่นที่จะแสวงหาความจริงและตรวจสอบความจริง หาจำต้องสนใจที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ขึ้นไปอีก กระทั่งหาจำต้องให้ความสนใจว่า "ต้นแหล่งแห่งความรู้" หรือ "ต้นน้ำ" นั้นคืออะไร มีความหมายที่แท้จริงอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร มีทฤษฎีอย่างไร มีหลักการอย่างไร..ขอเพียงได้นำความรู้นั้นมาดัดแปลงให้เป็นข้อมูลข่าวสารที่จะใช้สื่อสารกันได้เป็นพอ

ดังเราจะเป็นภาพสะท้อนเหล่านี้ได้ใน โซเชียลมีเดีย (social media) ชุมชนออนไลน์ ห้องเรียน ห้องสัมมนา ห้องประชุม ทั้งในการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ในสถาบันการศึกษา รวมทั้งเวทีสัมมนาวิชาการทั่วไป

นิยามใหม่ของ ความรู้.."ความรู้ คือ ข้อมูลข่าวสาร ที่อาจถือเอาได้ ครอบครองได้ ดัดแปลงได้ นำไปใช้ได้ นำไปเผยแพร่ได้ นำไปซื้อ ขาย แลก เปลี่ยน ได้ ผ่านระบบตลาด ระบบการสื่อสารทุกชนิด ทั้งการพูด ฟัง อ่าน เขียน พิมพ์ โดยไม่จำกัดสถานที่และพื้นที่ (space) โดยไม่จำกัดเวลา (time) ไม่จำกัดบุคคล (men) ที่จะนำไปใช้ โดยมิพักต้องตรวจสอบถึงความจริง -ความไม่จริง ความถูกต้อง-ความไม่ถูกต้อง ความเชื่อถือได้-ความเชื่อถือไม่ได้

โลกวันนี้ เราจึงไม่อาจที่จะคาดหวังถึง การได้พบพาน "ความรู้" จากแหล่งความรู้ที่เป็น "ต้นน้ำ" กันได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในยุคสมัยสังคมข้อมูลข่าวสาร

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
18 มิถุนายน 2556

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เราจะอยู่กันอย่างไร..อะไรคือ หนทางของเรา ??


เราจะอยู่กันอย่างไร..อะไรคือ หนทางของเรา ??
ในโลกปัจจุบันที่เราอยู่ในสภาวะเอ่อล้นด้วย (1) สื่อ ช่องทาง และพื้นที่ในการสื่อสาร (abundantly/overflow communication media)  (2) ความง่ายในการเข้าถึง (access to media) สื่อ (3)ความง่ายสะดวกและรวดเร็วในการสืื่อสาร แบบ anywhere-anytime communications..ส่งผลให้เกิดสภาวะสืบเนื่องตามมา (consequential effects) คือ (a) เจ้าของสื่อ เจ้าของธุรกิจ และฝ่ายการเมือง ทำการสื่อสารอย่างหนักเพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดของประชาชน (b) ประชาชนทั่วไปมีความสามารถในการทำการสื่อสารมวลชนด้วยตนเองแบบอิสระ (individual mass communication) (c) การปะทะกันทางความคิด ระหว่างเจ้าของธุรกิจ/ฝ่ายการเมือง กับ เจ้าของธุรกิจ/ฝ่ายการเมืองด ระหว่างเจ้าของธุรกิจ/ฝ่ายการเมือง กับ และระหว่างฝ่ายประชาชน ฝ่ายประชาชน กับ ฝ่ายประชาชนด้วยกันเอง..

สภาวะเช่นนี้ ประชาชนจึงมิได้เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยุ่อย่างเป็นอิสระที่แท้จริง เพราะอย่างน้อยที่สุด ประชาชนจะได้รับการโน้มน้าวชักจูงใจ หรือกดดัน หรือบีบบังคับ ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ (a)  เลือกบริโภคอาหารการกินและสิ่งของเครื่องใช้ ของธุรกิจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (b) เลือกเปิดรับ ชื่นชม หลงไหล และตอดตามสื่อรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เลือกที่จะรับ เลือกที่จะมีทัศนคติ เลือกที่จะเชื่อ เลือกที่จะปฏิบัติตาม ความคิด/ค่านิยม/แบบอย่าง/ตัวแบบ/พฤติกรรม ของบุคตล กลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (c) เลือกที่จะปิดรับ ผละหนี ละทิ้ง ปฏิเสธ ต่อต้าน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย เพื่อสร้าง "หนทาง" ของตนเอง ผ่านการใช้สื่อสมัยใหม่ เช่น โซเชียลมีเดีย หรือผ่านรูปแบบทางสังคมแบบทางเลือกชนิดอื่น เช่น กลุ่มสังคม ชุมชนออนไลน์ การรณรงค์เชิงสัญญะ

คำถามที่เราต้องตอบในวันนี้คือ..ประชาชนเ็นอิสะทางความคิดจริงหรือ ประชาชนปลอดจากการโน้มน้าว จูงใจ คุกคาม ครอบงำ ทางความคิดจริงหรือ ? หากไม่จริงประชาชนจะมีหนทางของตนเองอย่างไร ?

"หนทาง" ของประชาชนยังมีอยู่ คือ
(1) เปิดรับอย่างชาญฉลาด (smart receiver)
(2) เรียนรู้อย่างชาญฉลาด เพื่อให้รู้เท่ารู้ทัน (smart learner)
(3) แยกกันเรียนรู้ ร่วมกันเรียนรู้ สร้างพลังการมีส่วนร่วม (smart participator)
(4) กำหนด "หนทาง" ของตนเอง กลุ่มตนเอง โดยไม่ยอมจำนน ไม่ยอมอยู่ภายใต้การโน้มน้าวชักจูงใจ หรือกดดัน หรือบีบบังคับ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ของฝ่ายธุรกิจ/ฝ่ายกลุ่มผลประโยชร์/ฝ่ายการเมือง (self 
"หนทาง" ของตนเอง ต้องยืนบนขาตนเองได้จริง พึ่งพาตนเองได้จริง
(5) พัฒนานวัตกรรมของตนเอง (self innovation development) ทั้งนวัตกรรมทางความคิด นวัตกรรมทางวิชาการ นวัตกรรมสื่อ นวัตกรรมรูปแบบสังคม นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ นวัตกรรมทางการเมือง นวัตกรรมสิ่งของเครื่องใช้ และนวัตกรรมรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตภายใตสังใหม่แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
16 มิถุนายน 2556